การปรับพฤติกรรม
นักจิตวิทยาใช้คำว่า “พฤติกรรม”
เป็นสื่อระบุถึงการกระทำอันเนื่องมาจากการกระตุ้น
หรือถูกจูงใจจากสิ่งเร้าต่างๆ ซึ่งเมื่อศึกษาให้ละเอียดแล้ว
การกระทำหรือพฤติกรรมที่เราได้เห็นหรือได้สัมผัสรับรู้นั้น ส่วนหนึ่งของการกระทำ
เป็นการกลั่นกรอง ตกแต่งและตั้งใจที่จะทำ ให้เกิดขึ้น
มีพฤติกรรมอยู่มากทีเดียวที่แม้จะทำด้วยสาเหตุหรือจุดมุ่งหมายเดียวกัน
แต่ลักษณะท่าทีกริยาอาจจะแตกต่างกันไป เมื่อเปลี่ยนบุคคล เปลี่ยนเวลา
หรือเปลี่ยนสถานที่และสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง
ความแตกต่างที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะการกระทำ ในแต่ละครั้งแต่ละครา
(เมื่ออยู่ในสภาพร่างกายที่เป็นปกติ) จะต้องผ่านกระบวนการคิดและการตัดสินใจ
อันประกอบด้วยอารมณ์และความรู้สึกของผู้กระทำ พฤติกรรมนั้นๆ จึงทำ
ให้พฤติกรรมของแต่ละคนและพฤติกรรมแต่ละคราวเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนไปตามเรื่องที่เกี่ยวข้องเสมอ
(สุรพล พะยอมแย้ม, 2545)
พฤติกรรมส่วนบุคคล (Individual Behavior)
พฤติกรรมส่วนบุคคล (Individual Behavior)
จากการศึกษาของนักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยมได้อธิบายว่า พฤติกรรมส่วนบุคคลเกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้ (สุรางค์โค้วตระกูล, 2553)
1. เชาวน์ปัญญา ความสามารถพิเศษ ความถนัดและความสนใจ บุคคลที่มีเชาวน์ปัญญาดีย่อมมีพฤติกรรมต่างจากบุคคลที่มีเชาวน์ปัญญาต่ำ บุคคลที่มีเชาวน์ปัญญาดีจะชอบค้นคว้าหาความรู้ชอบศึกษาวิจัย ชอบอ่านหนังสือ ส่วนบุคคลที่มีเชาวน์ปัญญาต่ำมักชอบกิจกรรมที่ใช้แรงงาน เช่น ทำ ไร่ทำสวน ชกต่อย เป็นต้น
2. เพศและขนาดของร่างกาย เพศต่างกันทำ ให้มีพฤติกรรมต่างกัน เช่น หญิง มีกิริยาวาจาอ่อนหวาน นุ่มนวล ส่วนชายจะหยาบกระด้างกว่าขนาดของร่างกาย รูปร่างหน้าตา ก็มีส่วนทำ ให้พฤติกรรมแตกต่างกันผู้มีรูปร่างหน้าตาดีก็จะชอบออกสังคม ปรากฏตัวต่อหน้าชุมชน ส่วนผู้มีปมด้อยเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตา เช่น อ้วน เตี้ย จะเก็บตัวไม่ค่อยกล้าแสดงออก เป็นต้น
3. สภาพเศรษฐกิจ สังคมและสภาพสิ่งแวดล้อมบุคคลที่มีฐานะเศรษฐกิจดีมีฐานะร่ำรวย จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีและพฤติกรรมจะแตกต่างจากบุคคลที่มีฐานะด้อยกว่า และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีเป็นต้น
4. วัฒนธรรมประเพณีศาสนาและการใช้ภาษาของแต่ละท้องถิ่นสิ่งเหล่านี้ทำ ให้บุคคลมีพฤติกรรมแตกต่างกันอย่างหลากหลาย การดำ เนินชีวิต การพูด การรับประทานอาหาร การแสดงออกเกือบทุกด้านจะอยู่ภายใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมประเพณีศาสนา และการใช้ภาษาของแต่ละท้องถิ่นแทบทั้งสิ้น เช่น คนภาคเหนือกับคนภาคใต้คนตะวันตกกับคนตะวันออก จะมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เป็นต้น
5. สภาพภูมิศาสตร์ของแต่ละท้องถิ่น สภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ มีอิทธิพลต่อพฤติกรรม โดยเฉพาะนิสัยใจคอ ความรู้สึกนึกคิดของบุคคล เช่น ผู้อยู่ในอากาศร้อน จะมีความเฉื่อยชา เบื่อหน่าย ไม่ค่อยกระตือรือร้น เท่ากับผู้อยู่ในอากาศหนาว หรือผู้อยู่ในเมืองหลวง จะมีพฤติกรรมที่คล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง
6. อาชีพ อาชีพที่ต่างกัน มีอิทธิพลให้พฤติกรรมแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะ บทบาท สถานภาพ และกาลเทศะของบุคคล เช่น อาชีพนักธุรกิจกับครูสอนหนังสือ เกษตรกรกับคนงานในโรงงาน ล้วนแต่มีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน เป็นต้น
สิ่งที่กำหนดพฤติกรรม (Determinant of behavior)
ในทางจิตวิทยาสรุปสิ่งที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมบุคคลไว้2 ประการ คือ กรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งศัพท์ภาษาอังกฤษในทางจิตวิทยาอาจใช้คำแตกต่างกัน (สุรพล พะยอมแย้ม, 2545)
1. Heredity and Environment
2. Nature and Nurture
3. Genetics and Environment
สิ่งที่เป็นกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อมนี้เป็นเรื่องที่เราแต่ละคนไม่สามารถควบคุมให้เป็นไปตามใจที่เราต้องการได้ถึงแม้ว่าเราอาจเลือกสิ่งแวดล้อมได้บ้างในบางครั้ง หรือจัดการควบคุมทางพันธุกรรมในบางประการ แต่ทั้งสิ่งแวดล้อมที่เราเลือกหรือพันธุกรรมที่เรากำหนดนั้น ไม่สามารถจัดการได้ทั้งหมดและตลอดเวลาหรือเสมอไป โดยเฉพาะการกำหนดพันธุกรรมให้กับตนเอง ดังนั้น สิ่งที่กำหนดพฤติกรรมบุคคลใช้หลักการ 3 ประการต่อไปนี้คือ
1. พฤติกรรมบุคคลมีผลมาจากองค์ประกอบ 2 ประการ ได้แก่ พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม
2. พันธุกรรมจะเป็นตัวกำหนดลักษณะหรือคุณสมบัติทางร่างกาย และส่งผลต่อเนื่องถึงการกระทำ ในระยะต่อมาในหลากหลายรูปแบบ และหลากหลายทิศทาง
3. การเปลี่ยนแปลงแก้ไขพฤติกรรมของบุคคล สิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวกำหนดที่สำคัญมากกว่าสิ่งอื่นๆ (สุรพล พะยอมแย้ม, 2545)
กระบวนการเกิดพฤติกรรม
เมื่อบุคคลกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมา การแสดงออกเช่นนั้นได้ ย่อมต้องอาศัยขั้นตอนของการเกิดอย่างเป็นกระบวนการมาก่อนทั้งสิ้น และในกระบวนการเกิดพฤติกรรมทั้งหมดนี้ เราอาจแยกออกเป็นกระบวนการย่อยได้อีกอย่างน้อย 3 กระบวนการ คือ (สุรางค์โค้วตระกูล, 2553)
1. กระบวนการรับรู้ (perception process)
กระบวนการรับรู้เป็นกระบวนการเบื้องต้นที่เริ่มจากการที่บุคคลได้รับสัมผัสหรือรับข่าวสารสัมผัสจากสิ่งเร้าต่างๆ โดยผ่านระบบประสาทสัมผัส ซึ่งรวมถึงการที่รู้สึก (sensation) กับสิ่งเร้าที่รับสัมผัส นั้นๆ ด้วย
2. กระบวนการคิดและเข้าใจ (cognition process)
กระบวนการนี้อาจเรียกได้ว่า กระบวนการทางปัญญา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ประกอบไปด้วยการเรียนรู้การคิด และการจำ ตลอดจนการนำ ไปใช้หรือเกิดพัฒนาการจากการเรียนรู้นั้นๆ ด้วยการรับสัมผัส การรู้สึก ที่นำมาสู่การคิดและเข้าใจนี้เป็นระบบการทำ งานที่มีความละเอียดซับซ้อนมาก และเป็นกระบวนการภายในทางจิตใจ
3. กระบวนการแสดงออก (spatial behavior process)
หลังจากผ่านขั้นตอนของการรับรู้และการคิดและเข้าใจแล้ว บุคคลจะมีอารมณ์ตอบสนองต่อสิ่งที่ได้รับรู้นั้นๆ แต่ยังมิได้แสดงออกให้ผู้อื่นได้รับรู้ยังคงเป็นพฤติกรรมที่อยู่ภายใน (covert behavior) แต่เมื่อได้คิดและเลือกที่จะแสดงการตอบสนองให้บุคคลอื่นสังเกตได้ เราจะเรียกว่าพฤติกรรมภายนอก (overt behavior) ซึ่งพฤติกรรมภายนอกนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพฤติกรรมที่มีอยู่ทั้งหมดภายในตัวบุคคลนั้น เมื่อมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าใดสิ่งเร้าหนึ่ง การแสดงออกมาเพียงบางส่วนของที่มีอยู่จริงเช่นนี้จึงเรียกว่า (spatial behavior) โดยแท้ที่จริงแล้ว กระบวนการย่อยทั้ง 3 ขั้นตอนนี้ไม่สามารถแยกเป็นขั้นตอนต่างหากหรือเป็นอิสระจากกัน เพราะการเกิดพฤติกรรมในแต่ละครั้งนั้น จะมีความต่อเนื่องสัมพันธ์กันอย่างมาก
การปรับพฤติกรรมในห้องเรียน
ในสภาพการณ์จัดการเรียนการสอน การปรับพฤติกรรม ครูมีอิทธิพลในการแก้ไขพฤติกรรมมากโดยเฉพาะการให้แรงเสริม ทั้งการให้แรงเสริมบวก และวิธีการอื่นๆ แม้แต่การลงโทษสถานเบา และการให้แรงเสริมทางสังคม แฮริ่งและฟิลลิปส์(Haring & Phillips,1972) กล่าวว่า ครูสามารถให้แรงเสริมในห้องเรียนได้ด้วยการให้ความสนใจและให้คำชมเชย ซึ่งเป็นแรงเสริมที่มีประสิทธิภาพมาก ประการสำคัญแรงเสริมทางสังคมเป็นแรงเสริมที่นำมาใช้ได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว
ออลท์แมน และลินตัว (Altman and Linton) ได้ให้เหตุผล 3 ประการว่า ครูเหมาะสมสำหรับเป็นผู้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเด็กเพราะ (สมพร สุทัศนีย์. 2544)
1. สภาพห้องเรียนเป็นที่ที่เรามองเห็นได้ทั้งพฤติกรรมทางสังคมและพฤติกรรมทางวิชาการ
2. ในสภาพการเรียนเด็กต้องตั้งใจฟังครูอยู่แล้ว
3. ในหลักสูตร มีเนื้อหาบางส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขพฤติกรรมของเด็ก นอกจากนี้ในบรรยากาศของห้องเรียนนั้นสามารถปรับพฤติกรรมของเด็กได้หลายอย่างและสามารถทำ ได้รวดเร็ว ทันการ
แนวทางใน การปรับพฤติกรรม ในห้องเรียน
สำหรับการแก้ไขพฤติกรรมในห้องเรียนที่เรียกว่า “การปรับพฤติกรรม” สามารถกระทำ ได้2 แนวทาง คือ (สมพร สุทัศนีย์. 2544)
1. การจัดบรรยากาศในการเรียนการสอน
2. ใช้เทคนิคการปรับพฤติกรรม
แนวทางที่ 1
การจัดบรรยากาศในการเรียนการสอน เป็นการเน้นแนวคิดของมนุษยนิยมที่เน้นอารมณ์ความรู้สึกและความต้องการโดยเฉพาะความต้องการตามลำดับขั้นของมาสโลว์ซึ่งได้แก่
1) ความต้องการทางด้านร่างกาย
2) ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย
3) ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ
4) ความต้องการเกียรติและการยอมรับ
5) ความต้องการตระหนักในตน
เพื่อให้เด็กที่มีปัญหาเศรษฐกิจ ความมั่นคงปลอดภัย ขาดความรัก ความอบอุ่นและการยอมรับให้เด็กได้รับในสิ่งที่ไม่เคยได้รับมาก่อน ให้เด็กรู้สึกว่าโรงเรียนเป็นสถานที่น่าอยู่น่าเล่าเรียน ดังนั้นการจัดบรรยากาศในการเรียนการสอน มีดังนี้
1.ควรสร้างบรรยากาศในห้องเรียนที่ช่วยให้นักเรียนมีความรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของห้องหรือเป็นสมาชิกคนหนึ่งของห้องเรียน และมีแรงจูงใจภายในที่จะเรียนรู้ บรรยากาศในห้องเรียนไม่ร้อนอบอ้าว ห้องเรียนควรโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวกหรือมีพัดลมระบายอากาศ จัดโต๊ะ เก้าอี้ให้เด็กนั่งสบายๆ เหมาะกับวัยและรูปร่างของเด็ก ครูควรเปิดโอกาสให้เด็กผ่อนคลายความตึงเครียดบ้างหลังจากนั่งเรียนมาเป็นเวลานานพอสมควร โดยอนุญาตให้ออกไปล้างหน้า หรือทำตัวให้สบายที่สุด
2. คำนึงถึงสภาพร่างกายว่าเด็กได้รับอาหารเพียงพอแล้วหรือยัง ควรจัดอาหารกลางวันเด็กที่ขัดสน จัดหาน้ำดื่มไว้ให้เพียงพอ จัดหาของว่างให้เด็กได้รับประทานในเวลาบ่าย หรือให้มีเวลาพักตอนบ่ายสัก 10-15 นาทีเพื่อให้เด็กออกไปหาอาหารรับประทาน นอกจากนี้ครูควรสำรวจว่าเด็กคนใดเจ็บป่วยบ้าง ถ้ามีเด็กเจ็บป่วยควรให้พักผ่อน รับประทานยาให้ร่างกายพร้อมที่จะเรียนได้
3. ทำ ให้เด็กรู้สึกมั่นคงปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น โต๊ะเรียน ม้านั่งควรอยู่ในสภาพที่แข็งแรงทนทาน อาคารเรียนก็ต้องมั่นคงแข็งแรง สามารถต้านทานลมพายุได้เพดานห้องเรียนไม่เก่า ผุ จนเกิดความน่ากลัว อุปกรณ์เครื่องใช้ในห้องเรียน เช่น พัดลมที่ติดอยู่บนเพดานอยู่ในสภาพแข็งแรง เครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ในสภาพดีปลอดภัย นอกจากนี้ครูควรจัดบรรยากาศที่ส่งเสริมความมั่นคง ปลอดภัย
4. จัดประสบการณ์การเรียนที่ช่วยให้เด็กประสบความสำ เร็จ เมื่อเด็กประสบความสำ เร็จจะรู้สึกภาคภูมิใจและมีความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเอง (self – concept) ไปในทางที่ดีวิธีที่จะช่วยให้เด็กประสบความสำ เร็จ
5. ครูควรแสดงการยอมรับเด็กไม่ว่าเด็กจะอยู่ในสภาพใด เช่น ถ้าเป็นเด็กที่เรียนอ่อน มีปมด้อย ครูก็ควรแสดงให้เห็นว่าครูยอมรับในสภาพที่เด็กเป็นอยู่และเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความสามารถด้านอื่นๆ เป็นการชดเชยเพื่อช่วยให้เด็กรู้สึกว่าตนก็เป็นคนมีคุณค่า
6. การเปิดโอกาสให้เด็กได้รับการยอมรับอีกวิธีหนึ่งคือ การให้ทำงานเป็นกลุ่ม จากการศึกษาและวิจัยพบว่าการทำ งานเป็นกลุ่มมีประสิทธิภาพมากกว่าการทำ งานคนเดียว เพราะคนต้องการมีความสัมพันธ์กับคนในกลุ่ม ต้องการปรึกษาหารือ ดังนั้น การทำ งานเป็นกลุ่มย่อมทำ ให้เด็กได้รับการยอมรับและได้รับความสำคัญ แม้ว่าบางครั้งการทำ งานเป็นกลุ่มจะทำ ให้คนทำตามกลุ่มและสูญเสียอิสรภาพ ความเป็นตัวของตัวเองไปบ้างก็ไม่เป็นไร (สุรางค์โค้วตระกูล, 2553)
แนวทางที่ 2
เทคนิคการปรับพฤติกรรม เป็นวิธีการปรับพฤติกรรมที่อยู่บนพื้นฐานการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น
1. การให้แรงเสริม การให้แรงเสริมเป็นวิธีการของการเรียนรู้แบบวางเงื่อนไขการกระทำของสกินเนอร์ เป็นวิธีการที่สามารถนำมาใช้ในการแก้ไขพฤติกรรมของเด็กในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีข้อมูลยืนยันการใช้แรงเสริมในหลายรูปแบบเช่นการให้แรงเสริมที่เป็นสิ่งของที่จับต้องได้กินได้แรงเสริมทางสังคมที่เป็นคำชมเชย การให้ความสนใจ แรงเสริมที่เป็นกิจกรรมที่เด็กชอบมากกว่ากิจกรรมการเรียน แรงเสริมที่แลกเปลี่ยน ฯลฯ มีงานวิจัยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่ยืนยันว่าแรงเสริมประสิทธิภาพแก้ไขพฤติกรรมการเรียน พฤติกรรมทางสังคมและอื่นๆ เช่น งานวิจัยของ พิมพ์วิสาข์ติ่งเคลือบ (2555) ผลการวิจยัพบว่า เมื่อใช้วิธีการเสริมแรงทางบวก (การเพิ่มคะแนน) จะกระตุ้นให้นักศึกษาเล่นอินเตอร์เน็ตระหว่างเรียนลดลงน้อยกว่า การใชวิธีการเสริมแรงทางลบ(การหักคะแนน) โดยเมื่อได้รับการเสริมแรงทางบวกจะทำ ให้มีความสนใจเรียนมากขึ้นและเมื่อนักศึกษาเข้าใจเนื้อหาและสามารถทำแบบฝึกหัดไดจะส่งผลต่อคะแนนของนักศึกษาสูงขึ้นอีกด้วย และงานวิจัยของวันดี จูเปี่ยม(2554)ผลการศึกษาพบว่านักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่3/5มีพฤติกรรมความรับผิดชอบในการทำ งานที่ได้รับมอบหมายในรายวิชาวิทยาศาสตร์มากขึ้นหลังการใช้แรงเสริมทางบวกด้วยเบี้ยอรรถกรและมีพฤติกรรมความรับผิดชอบในการทำ งานที่ได้รับมอบหมายสูงกว่าร้อยละ 70 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้
2. การฝึกพฤติกรรมแสดงออกที่เหมาะสม (Assertive behavior) เป็นเทคนิคการปรับพฤติกรรมที่ใช้ในการแก้ไขความกลัวและความวิตกกังวล โดยจะใช้วิธีการและขั้นตอนในการฝึกพฤติกรรมการแสดงออกอย่างเหมาะสม ซึ่งประกอบด้วยการฝึกทักษะทางสังคม (Social Skills) และการใช้เทคนิคต่างๆ เช่น การให้คำแนะนำ (Coaching Instruction) การแสดงตัวอย่าง (Modeling)การซ้อมบทบาทของพฤติกรรม(Behavior rehearsal)การให้แรงเสริมทางบวก(Positive reinforcement) การแสดงบทบาทสมมติ(Role-playing) และการให้การบ้าน (Home assignment) เพื่อให้เกิดการแสดงออกตามความรู้สึกนึกคิด และความต้องการที่แท้จริงของแต่ละคนได้อย่างเหมาะสมเป็นธรรมชาติ ด้วยความมั่นใจอย่างตรงไปตรงมา ตามสิทธิของแต่ละบุคคลอื่นด้วย ในการวิจัยครั้งนี้พฤติกรรมการแสดงออกอย่างเหมาะสมวัดด้วยคะแนนจากแบบวัดพฤติกรรม การแสดงออกอย่างเหมาะสม (ตรรกพร สุขเกษม, 2554)
3. การเตือนตนเอง (Self – monitioring) เป็นเทคนิคง่ายๆ ที่ให้บุคคลหรือเด็กที่มีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาสังเกตและรายงานพฤติกรรมของตนเองว่าเกิดขึ้นเวลาใด ในสถานการณ์ใดมากที่สุด แล้วรายงานต่อผู้ที่จะแก้ปัญหาหรือรายงานให้ครูทราบ เพื่อจะได้ดำ เนินการแก้ไขพฤติกรรมต่อไป วิธีนี้เป็นวิธีควบคุมตนเองจากทั้งภายนอกและภายใน นั่นคือ การสังเกตและจดบันทึกพฤติกรรมตนเอง นับเป็นวิธีควบคุมจากภายใน แต่การที่ครูหรือบุคคลภายนอกให้แรงเสริมเป็นวิธีควบคุมจากภายนอก
4. การเสนอตัวแบบ (Modeling Procedure) การเสนอตัวแบบเป็นเทคนิคที่พัฒนามาจากงานของแบนดูร่าในช่วงปีค.ศ. 1969 คือ การเสนอตัวแบบในโรงเรียน การเสนอตัวแบบเป็นเทคนิคที่สามารถใช้ปรับพฤติกรรมทางอารมณ์ทางสังคม หรือทักษะทางกาย ซึ่งนับว่าเป็นเทคนิคที่ใช้ได้อย่างกว้างขวางและเป็นธรรมชาติซึ่งแบนดูร่า (Bandura, 1969) กล่าวว่าตัวแบบนั้นให้ประโยชน์3 ด้านคือ ช่วยให้บุคคลเรียนรู้พฤติกรรมใหม่ ช่วยให้พฤติกรรมที่เรียนรู้มาแล้วได้มีโอกาสแสดงออก และมีผลให้เกิดการระงับพฤติกรรมบางอย่าง การเสนอตัวแบบทำ ให้เด็กเกิดการสังเกตและทำตามแบบอย่าง เช่น สังเกตตัวแบบจริง ตัวแบบจากภาพยนตร์จากรูปภาพ ฯลฯ การเสนอตัวแบบจะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเด็กมาก ดังตัวอย่างการศึกษาของรอสและคณะ (Ross, et.al., 1971) ซึ่งให้เด็กที่แยกตัวออกจากสังคมดูตัวแบบจากรูปภาพการเล่าเรื่อง ภาพยนตร์ และตัวแบบคนจริงซึ่งแสดงการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่นให้เด็กดูและให้แรงเสริมเมื่อเด็กมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น สอดคล้องกับการศึกษาของ ศิริพันธุ์ ศิริพันธุ์และ บุญยิ่ง ทองคุปต์(2550) ที่ศึกษาเรื่อง ผลสัมฤทธิ์ของการสอนด้วยวิธีการพี่สอนน้อง ของนักศึกษาต่อการฝึกการทำคลอดปกติ และทำคลอดรกและการรับรู้ความสามารถของตนในการทำคลอดปกติและ การทำคลอด ใน นักศึกษาพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ชั้นปีที่ 3 หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต จำนวน 59 คน ที่กำลังศึกษาภาคการศึกษาปีที่1ปีการศึกษา 2550ซึ่งได้รับการสอนทักษะการทำคลอดปกติและการทำคลอดรกจากนักศึกษาพยาบาลศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 4 ที่อาสาสมัครเข้าร่วมโครงการวิจัย จำนวน 30 คน ในห้องปฏิบัติการพยาบาล โดยใช้แนวคิดของ Bandura (1969) คือให้นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 3 ซึ่งเป็นรุ่นน้องได้สังเกต และทำตามแบบอย่างนักศึกษารุ่นพี่ ซึ่งเป็นนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 ผลการวิจัยครั้งนี้พบว่า นักศึกษาสามารถฝึกทักษะการทำคลอด ได้สมบูรณ์และมีทักษะการทำคลอดรก แบบ Controlled Cord Traction ได้สมบูรณ์ขึ้น
5. การชี้แนะ (Prompts) เป็นการให้สิ่งเร้ากระตุ้นให้เด็กแสดงพฤติกรรมตามที่ต้องการ การชี้แนะมักนิยมใช้ร่วมกับการให้แรงเสริม การชี้แนะอาจจะเป็นคำ พูด กิริยาท่าทางหรือสื่อต่างๆ เครื่องชี้แนะอาจจะช่วยปรับพฤติกรรมทางการเรียน หรือพฤติกรรมทางสังคม ถ้าเป็นเด็กที่มีปัญหาทางการเรียน แก้ได้โดยตรงด้วยการอาศัยเครื่องชี้แนะ ได้แก่ “บทเรียนแบบโปรแกรม” หรือสื่ออย่างอื่น สำหรับเครื่องชี้แนะในการปรับพฤติกรรมอื่นๆ มีหลายวิธีเช่น การพูดกระตุ้น การใช้กิริยาท่าทาง
6. การลงโทษ เป็นการให้สิ่งเร้าที่ก่อให้เกิดความไม่พึงพอใจ (aversive stimulus) หลังจากการตอบสนองอันใดอันหนึ่ง ซึ่งทำ ให้โอกาสที่จะแสดงออกแล้วควบคุมด้วยสิ่งเร้าที่ไม่น่าพึงพอใจ ซึ่งเป็นวิธีการควบคุมพฤติกรรมที่ก่อีให้เกิดผลเสียเพราะเป็นการให้สิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจหลังจากพฤติกรรมนั้นเกิดขึ้น การลงโทษมักจะเป็นวิธีที่ใช้กับเด็กที่ปรับตัวไม่ได้อย่างรุนแรง เช่น ก้าวร้าว ต่อสู้ทุบตีเป็นต้น การลงโทษอาจจะเป็นการทำให้เจ็บกาย เช่น ตีและเจ็บปวดทางใจ เช่น ตำหนิเยาะเย้ย นอกจากนี้ยังมีการช็อตด้วยไฟฟ้าเสียงรบกวน เป็นต้น
7. การควบคุมตนเอง วิธีการควบคุมตนเองที่ใช้ในห้องเรียนนั้นจะกระทำตามขั้นตอนที่กล่าวไว้แล้ว คือ
1) การกำหนดพฤติกรรมเป้าหมายด้วยตนเอง
2) กำหนดเงื่อนไขแรงเสริมหรือการลงโทษด้วยตนเอง
3) การสังเกตและบันทึกพฤติกรรมด้วยตนเอง
4) การประเมินตนเอง
5) ให้แรงเสริมหรือลงโทษตนเอง
8. การฝึกสอนตนเอง (Self-instructional Training) เป็นเทคนิคได้พัฒนามาจากแนวคิดทฤษฎีการเรียนรู้การวางเงื่อนไขแบบการกระทำของสกินเนอร์ และงานของนักจิตวิทยาชาวรัสเซีย ที่ศึกษาถึงพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างภาษา ความคิด และพฤติกรรมและได้เสนอว่า การควบคุมพฤติกรรมของบุคคลนั้นเริ่มจากบุคคลที่มีความสำคัญต่อเขาโดยเริ่มจากการควบคุมด้วยคำ พูดหรือภาษา ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมทางสังคมพัฒนาไปสู่การควบคุมตนเองโดยการที่เด็กใช้คำ พูด
ภายนอก (พูดเสียงดัง) ต่อมาจึงพูดจากภายในใจตนเอง เขาจึงได้พัฒนาโปรแกรมการสอนตนเองขึ้นสอนเด็กที่มีลักษณะหุนหันพลันแล่น (Impulsive) โดยเริ่มให้เด็กดูตัวแบบว่าเขาจะทำอะไรแล้วให้เด็กพูดตามด้วยเสียงดัง จากนั้นค่อยๆ พูดให้เบาลง จนในที่สุดพูดกับตัวเองภายในใจซึ่งพบว่าได้ผลดี(Meichenbaum and Goodman1971อ้างถึงในสมโภชน์เอี่ยมสุภาษิต, 2550)
9. วิธีพฤติกรรมบำบัด เป็นวิธีการที่มีคนนิยมใช้กันมากในคลินิกโดยอาศัยหลักการเรียนรู้ในห้องทดลองมาใช้บำบัดคนเป็นโรคจิต โรคประสาทเพราะเชื่อว่า อาการของโรคจิต โรคประสาทนั้นเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ที่ไม่สมเหตุสมผลและขาดการปรับตัวที่ดีจึงทำ ให้คนไข้แสดงพฤติกรรมออกมาในลักษณะที่ผิดปกติธรรมดา
ขั้นตอนในการปรับพฤติกรรม
การปรับพฤติกรรม เป็นการปรับที่อยู่บนพื้นฐานทฤษฎีการเรียนรู้ที่มีระบบ มิใช่เกิดขึ้นตามแต่จะเป็นไปหรืออารมณ์ของบุคคลรอบข้าง แต่เมื่อกล่าวถึงการปรับพฤติกรรมหลายคนมักจะกล่าวว่า ก็ได้ปฏิบัติอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ผล ดังนั้นควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับ การปรับพฤติกรรม ดังต่อไปนี้จากลักษณะของการปรับพฤติกรรม (สมพร สุทัศนีย์, 2544)
ลักษณะของการปรับพฤติกรรม
1. เน้นการแก้ไขพฤติกรรมหรือกิริยาอาการที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน เช่น พูดเสียงดัง เดิน ตะโกน เป็นต้น พฤติกรรมดังกล่าวสามารถมองเห็นได้ตรงกัน วัดได้เป็นรูปธรรม
2. ไม่ใช้คำที่ประณามหรือตีตรา เช่น คำ ว่า ซน ก้าวร้าว ดื้อ ชอบขโมย โกหก เป็นต้น เพราะเป็นพฤติกรรมที่มีลักษณะของการประเมิน มีความหมายกว้างและซับซ้อน มีหลายพฤติกรรมรวมๆ กัน ยากแก่การสังเกตหรือสังเกตเห็นได้แต่ต่างคนต่างก็เข้าใจไม่ตรงกัน ทำ ให้ยากแก่การจัดโปรแกรมการปรับหรือแก้ไขพฤติกรรม
3. พฤติกรรมต่างๆ เกิดจากการเรียนรู้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ก็เกิดจากการเรียนรู้ที่ไม่เหมาะสม ฉะนั้น พฤติกรรมย่อมเปลี่ยนแปลงได้โดยการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมหรือการจัดสภาพแวดล้อมใหม่ที่เหมาะสม
4. การปรับพฤติกรรมเน้นสภาพการณ์ในปัจจุบันเท่านั้น แม้ว่าพฤติกรรมนั้นเกิดจากการเรียนรู้ในอดีต แต่เงื่อนไขสิ่งเร้าและผลกรรมในสภาพการณ์ปัจจุบันเป็นตัวกำหนดว่าพฤติกรรมนั้นมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง หรือมีแนวโน้มที่จะลดลง ถ้าสามารถรู้ว่าสิ่งเร้าหรือผลกรรมใดทำ ให้พฤติกรรมเกิดขึ้นบ่อยครั้งหรือลดลงก็สามารถจัดสภาพการณ์สิ่งเร้าและผลกรรมนั้นได้เหมาะสม เพื่อให้พฤติกรรมเปลี่ยนไปตามเป้าหมาย
5. การปรับพฤติกรรมเน้นการเพิ่มพฤติกรรมที่พึงประสงค์โดยการให้สิ่งที่เด็กพอใจหลังจากเด็กแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์นั้น มากกว่าการลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ โดยการให้สิ่งเร้าที่เด็กไม่พอใจหลังการแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้น หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า เน้นวิธีการทางบวกมากกว่าการลงโทษ
6. วิธีการปรับพฤติกรรมแต่ละวิธีนั้นจะใช้ได้เหมาะสมหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับปัญหาแต่ละปัญหา เนื่องจากเด็กแต่ละคนย่อมมีภูมิหลังที่แตกต่างกัน การปรับพฤติกรรมจึงต้องตระหนักในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลด้วย
7. วิธีการปรับพฤติกรรมเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่มีระบบและขั้นตอนที่ได้รับการทดสอบแล้วว่าเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ ขั้นตอนการปรับพฤติกรรมที่นำมาใช้ในชั้นเรียน
เมื่อครูเข้าใจลักษณะของการปรับพฤติกรรม ครูก็สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนการปรับพฤติกรรมดังนี้ (สุรางค์ โค้วตระกูล, 2553)
1. เลือกพฤติกรรมที่ต้องการแก้ไข หรือเลือกพฤติกรรมเป้าหมายก่อนที่จะจัดรายการการใช้เทคนิคในการแก้ไขพฤติกรรม หรือที่เรียกว่า “การปรับพฤติกรรม” (behavior modification) นั้น เราต้องสำรวจดูว่าพฤติกรรมอะไรบ้างที่ต้องแก้ไขพฤติกรรมที่ต้องการแก้ไขเรียกว่า “พฤติกรรมเป้าหมาย” (target behavior) พฤติกรรมเป้าหมายดังกล่าวคือ พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั่นเอง
2. วิเคราะห์พฤติกรรมที่ต้องการแก้ไข หมายถึง การจำแนกพฤติกรรมออกเป็นพฤติกรรมย่อย ที่บ่งบอกพฤติกรรมที่ต้องการแก้ไขเป็นพฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้ชัด และมีปริมาณหรือจำนวนบ่งบอกไว้
3. เลือกตัวแรงเสริมในการแก้ไขพฤติกรรม เมื่อทราบพฤติกรรมเป้าหมาย และสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมเป้าหมายแล้ว ขั้นต่อไปคือการเลือกตัวแรงเสริม แรงเสริมที่ต้องเลือกคือ “ตัวแรงเสริมบวก” ซึ่งมีมากมายดังกล่าวแล้วข้างต้น เหตุที่ต้องเลือกเพราะต้องการให้แรงเสริมนั้นเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน
4. เลือกเทคนิคต่างๆ ในการปรับพฤติกรรม เทคนิคและวิธีการในการแก้ไขพฤติกรรมนั้นต้องเลือกให้เหมาะกับพฤติกรรมและทิศทางที่ต้องการ เช่น ต้องการลดพฤติกรรมหรือต้องการเพิ่มพฤติกรรม เทคนิคที่นำมาใช้ในสถานการณ์จริงของห้องเรียน อาจจะใช้ในรูปของกิจกรรมง่ายๆ ที่เป็นเทคนิคการให้แรงเสริมบวก
5. วัดพฤติกรรม หมายถึง การนับความถี่ของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยการสังเกตและบันทึกพฤติกรรมหรือบันทึกระยะเวลาที่เกิดพฤติกรรมที่ต้องการ
6. ปฏิบัติตามขั้นตอนในการแก้ไข หรือปรับพฤติกรรมในชั้นเรียน เมื่อครูทราบขั้นตอนในการแก้ไขและปรับพฤติกรรมแล้ว ก็สามารถดำ เนินการตามขั้นตอนได้
7. ประเมินผลการปรับพฤติกรรม เมื่อครูทำการวัดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในช่วงก่อนการให้แรงเสริมและช่วงของการให้แรงเสริมช่วงเวลาละ 30 นาทีแล้ว นำความถี่ของพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้นมาเปรียบเทียบกัน เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงว่า พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ลดลงไปมากน้อยเพียงใดเป็นการประเมินว่า โปรแกรมการให้แรงเสริมได้ผลหรือไม่มากน้อยเพียงใดและเพื่อเป็นการยืนยันว่า โปรแกรมการให้แรงเสริมเชื่อถือได้
8. ติดตามผล เป็นการติดตามผลหลังจากโปรแกรมการแก้ไขพฤติกรรมสิ้นสุดลง เมื่อโปรแกรมการแก้ไขพฤติกรรมสิ้นสุดลงควรมีการตรวจสอบดูว่า พฤติกรรมที่ได้รับแรงเสริมนั้นคงที่ หรือกลับสู่สภาพเดิมหรือไม่ เพื่อจะได้เป็นข้อมูลหรือหลักฐานในการยืนยันว่าแรงเสริมชนิดนี้ใช้ได้ผลและเพื่อเป็นข้อมูลเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขโปรแกรมการปรับพฤติกรรมในครั้งต่อๆ ไป