วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

แนวทางการพํฒนาตนเองสู่ครูมืออาชีพ



แนวทางการพัฒนาตนเองสู่ครูมืออาชีพ
     ครูมืออาชีพ ตามความหมายของกรมวิชาการ ได้ให้ความหมายไว้ว่า คือครูที่มีความพร้อมในทุก ๆ ด้านที่จะเป็นครู คือ มีความรู้ความสามารถ มีทักษะในการให้การศึกษาอบรมศิษย์ในทุก ๆ ด้าน มีความประพฤติดี วางตัวดี เอาใจใส่ดูแลศิษย์ดี มีวิญญาณของความเป็นครู และปฏิบัติหน้าที่ด้วยจิตวิญญาณ ซึ่งจากความหมายนี้ เราจะเห็นได้ว่า ระดับของครูมืออาชีพนั้น แตกต่างจากระดับคนที่ประกอบอาชีพครูอยู่พอสมควร ครูทุกคนถึงแม้จะมีความรู้ทางวิชาชีพทัดเทียมกัน เพราะส่วนใหญ่ต่างจบจากสถาบันผลิตครูเหมือนๆกัน หรือจะแตกต่างกันบ้างก็ตรงชื่อของมหาวิทยาลัยที่เรียนจบ แต่เมื่อผ่านการคัดเลือกเข้ามาบรรจุครูในสถานศึกษาของรัฐหรือได้ทำงานในสถานศึกษาของเอกชน ครูทุกคนก็มีจุดเริ่มต้นในการทำงานที่แทบจะไม่ต่างกัน แต่อะไรเล่า? ที่เป็นตัววัดว่า ใครคือผู้ประกอบอาชีพครูธรรมดาๆ และใครควรจะถูกเรียกว่าเป็นครูมืออาชีพ
      สิ่งที่ทำให้ครูมืออาชีพ แตกต่างจากผู้ประกอบอาชีพครูโดยทั่วไปนั้น คือการสามารถปฏิบัติตนให้ดำรงไว้ซึ่งปัจจัยที่ส่งเสริมความเป็นครูที่ดี 4 ประการ ซึ่งปรากฏในหนังสือคู่มือเส้นทางครูมืออาชีพสำหรับครูผู้ช่วย ของสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติกร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน อันได้แก่
1. อุดมการณ์ของครู

           สำหรับครูมืออาชีพ จะเน้นในเรื่องในของการดำรงไว้ซึ่งอุดมการณ์ความเป็นครูมากกว่าจะคำนึงถึงอามิสสินจ้าง โดยพร้อมแสดงความเมตตากรุณาต่อศิษย์ เสียสละและมุงมั่นในการทำงานเพื่อเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนอย่างเต็มศักยภาพตามความสามารถที่ตัวเองพึงกระทำได้

 2. คุณลักษณะของการเป็นครูที่ดี

           ครูมืออาชีพส่วนใหญ่จะมีลักษณะของการเป็นครูที่ดี ซึ่งการเป็นครูที่ดีนั้น ถ้ามองตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพแล้วจะสามารถสรุปได้คร่าวดังนี้ คือ

                      - ต้องเป็นผู้รอบรู้ในเรื่องของนโยบายการศึกษา เข้าใจในหลักสูตรและเนื้อหาวิชาที่สอน มีทักษะในการสอน วัดและประเมินผลผู้เรียนได้อย่างถูกต้อง

                      - ติดตามสถานการณ์บ้านเมืองอย่างสม่ำเสมอ สามารถจับประเด็นและวิเคราะห์ปัญหาต่างๆได้

                      - สามารถสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนการสอน ทั้งในเรื่องของการดูแลผู้เรียน การจัดการสื่อการเรียนการสอน และการช่วยเหลืองานสนับสนุนการจัดการในโรงเรียนต่างๆ เช่น งานพัสดุ หรืองานธุรการ เป็นต้น

                      - มีคุณธรรมจริยธรรมตามหลักของจรรยาบรรณวิชาชีพ

                      - รู้จักพัฒนาตนเองและส่งเสริมชุมชนอยู่เสมอ

           ซึ่งจากคุณลักษณะการเป็นครูที่ดี โดยสังคราะห์จากเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพ จะเห็นว่าครูมืออาชีพนั้นจะต้องเป็นปฏิบัติดีทั้งต่อตัวเอง ผู้เรียน โรงเรียน รวมไปถึงชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงด้วย

 3. ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

           ปัจจุบันนี้ อาชีพครูกลายเป็นอาชีพหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในเรื่องของหนี้สิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าครูจะไม่ใช่อาชีพที่ทำรายได้ในระดับที่สูงมากนัก แต่รายได้ของครูก็เพียงพอต่อการใช้สอย ถ้ามีความพอเพียงและสามารถบริหารจัดการได้ดี การมีหนี้สิน ถ้าอยู่ในระดับที่ดูแลจัดการได้นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นปัญหาแต่อย่างใด แต่ส่วนใหญ่ที่พบมักเป็นลักษณะของการมีหนี้สินติดพันรุงรังจนกระทบต่อการทำงาน ทำให้ครูไม่อาจทำงานได้เต็มที่ กังวลกับเรื่องหนี้สินตลอดเวลา ซึ่งสำหรับครูมืออาชีพนั้น จะเป็นผู้ที่หยิบยกแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาใช้ในการดำเนินชีวิตคือ พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวเอง ทำให้สามารถใช้ชีวิตในวิชาชีพครูได้เป็นแบบอย่างที่ดีและมีความสุข
4. คุณธรรมที่ใช้ในการปฏิบัติงาน

           การเป็นครูมืออาชีพ จะต้องยึดถือคุณธรรมในการทำงาน ซึ่งคุณธรรมในการประกอบวิชาชีพครูนั้น ตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพ จะประกอบด้วย (1) ความมีเมตตากรุณาต่อศิษย์  (2) มีความยุติธรรม (3) มีความรับผิดชอบ (4) มีวินัย (5) ขยันขันแข็ง (6) อดทน (7) ประหยัด (8) รักและศรัทธาในวิชาชีพครู (9) มีความเป็นประชาธิปไตยในการปฏิบัติงานและการดำรงชีวิต
  สำหรับการแนวทางในการฝึกฝน เพื่อก้าวสู่การเป็นครูมืออาชีพนั้น จากบทความเรื่อง คมคิด 12 ประการ สู่ความเป็นครู สควค. มืออาชีพ ของนายเดชา การรัมย์ ผู้อำนวยการ โรงเรียนบ้านม่วงหนองตาด จังหวัดสุรินทร์ (ตำแหน่ง ณ ขณะนั้น)  ได้เขียนไว้ในวารสาร สควค. ปีที่ 2 ฉบับที่ 7 เมษายน-มิถุนายน 2551 นั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์และสามารถนำมาเป็นแนวทางในการฝึกฝนและพัฒนาตนเองเพื่อก้าวสู่ความเป็นครูมืออาชีพได้ จึงนำมาเรียบเรียงใหม่ให้เหมาะสมตามความคิดเห็นของข้าพเจ้า ซึ่งสามารถสรุปได้เป็นแนวทาง ดังนี้

           1. ผู้สอนควรปฏิบัติตนให้มีความเหมาะสมตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ  เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของของบุคคลทั่วไป

           2. ควรศึกษาแนวทางการจัดการศึกษาของชาติ ตามนโยบายต่างๆ ของทางกระทรวงศึกษาธิการ  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม

           3.  ต้องศึกษากฎหมายและหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา เพื่อให้สามารถออกแบบกระบวนการเรียนรู้อย่างเหมาะสม

           4.  ต้องทำความรู้จักผู้เรียน เพื่อให้ทราบถึงอุปนิสัยใจคอ จุดเด่น และจุดที่ต้องพัฒนาเรียน สามารถ วิเคราะผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้ ซึ่งข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนรู้

           5. จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เน้นทักษะการปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมให้เด็กเกิดความเข้าใจและสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยครูทำหน้าที่เป็นผู้แนะแนวทางและให้คำปรึกษามากกว่าเป็นผู้ชี้นำในการเรียนการสอน

           6.  ควรจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้มีการบูรณาการแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ ในส่วนของเนื้อหาที่สัมพันธ์กัน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีความคิดเชื่อมโยงและสามารถนำความรู้ไปใช้ได้ในชีวิตจริง

           7. เลือกใช้วิธีการวัดผลการเรียนรู้อย่างหลากหลายตามสภาพที่เหมาะสมของผู้เรียน เพื่อให้ทราบถึงผลลัพธ์ที่ถูกต้องและแม่นยำ

           8. เลือกจัดกิจกรรมหรือโครงการที่เน้นให้ผู้เรียนให้เกิดความรู้ ทักษะ หรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรแกนกลางและหลักสูตรสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง

           9. ควรมีการอบรมพัฒนาผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง และใช้การวิจัยในชั้นเรียนเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมและแก้ไขปัญหาต่างๆของผู้เรียน

           10. หมั่นศึกษาและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ควรร่วมกิจกรรมการฝึกอบรมหรือกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครูทั้งในและนอกโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง

           11. ฝึกฝนทักษะในการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้

           12. พัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีกับบุคคลอื่น สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การปรับพฤติกรรม

การปรับพฤติกรรม          นักจิตวิทยาใช้คำว่า “ พฤติกรรม ” เป็นสื่อระบุถึงการกระทำอันเนื่องมาจากการกระตุ้น หรือถูกจูงใจจากสิ่งเร้าต่าง...