วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ข้อมูลเพิ่มเติม


ข้อมูลเพิ่มเติม



            การประเมินผลเป็นธรรมชาติ เป็นพลวัติในห้องเรียน การจัดการเรียนรู้ และการวัดและประเมินต้องไปด้วยกัน เครื่องมือและวิธีการที่ใช้มีหลากหลายประเภท แต่ไม่ได้หมายความว่าครูจะต้องใช้ทุกแบบ แต่ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ กิจกรรมการสอน พฤติกรรมของนักเรียน และสภาพของสถานการณ์จริงของการเรียนรู้ ณ ขณะนั้น ซึ่งครูต้องเลือกเป็นและเลือกให้เหมาะสม จึงจะเป็นการประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assessment) ปัญหาของการประเมินระหว่างเรียน พบว่า นักเรียนไม่กล้าถามคำถาม ครูอาจแก้ไขด้วยการให้นักเรียนแบ่งกลุ่มและช่วยกันระดมเขียนข้อคำถามลงในกระดาษ โดยผ่านการทำงานเป็นทีม ถ้านักเรียนไม่มีคำถาม ครูก็จะต้องกระตุ้นให้นักเรียนตั้งคำถามขึ้นมา ว่าสิ่งที่เขาไม่รู้เขาไม่รู้อะไร การตั้งคำถามเป็นกลยุทธ์การสอน (Progressive Inquiry) ประเทศฟินแลนด์ใช้ทักษะการตั้งคำถามในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่แตกต่างกันไปตามประเด็นปัญหาซึ่งการทำงานเป็นทีมก็จะช่วยสื่อสารในด้านการคิด สำหรับทักษะการประเมินตนเองและประเมินเพื่อน ครูจะต้องออกแบบให้นักเรียนฝึกฝนจึงจะมีทักษะนี้
·            การประเมินเพื่อการเรียนรู้ ต้องทำอย่างจริงจัง ค่อย ๆ เปลี่ยนวิธีคิดของครูและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องการสอนและการประเมินต้องมีการวางแผนให้ไปด้วยกัน ต้องพยายามทำความเข้าใจและสร้างความตระหนักให้ครูเห็นว่า ถ้าเปลี่ยนแปลงวิธีประเมินจะทำให้การเรียนรู้ดีขึ้น ให้ครูเข้าใจว่าการประเมินคือการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน ไม่ใช่การจัดอันดับ การประเมินจึงเป็นทุกอย่างตั้งแต่การปรับปรุงพัฒนาเพื่อการเรียนรู้เป็นเทคนิคการสอน หรือเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ ที่ผ่านมา การประเมินระหว่างเรียน (Formative Assessment) ของครูส่วนใหญ่มุ่งที่การเก็บคะแนน ครูและนักเรียนขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการวัดและประเมินผล ถ้าครูมีความรู้ความสามารถในการวัดผล ทั้งการประเมินระหว่างเรียน (Formative Assessment) และการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (Summative Assessment) ก็จะเป็นปัจจัยที่มีผลโดยตรงต่อคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน และในงานวิจัย OECD (2006) พบว่า การประเมินเพื่อการเรียนรู้ และการประเมินความก้าวหน้าในการเรียนรู้มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนอย่างแท้จริง
      ปัจจัยที่มีผลต่อการรับรู้
                การรับรู้ (Perception)
การรับรู้ หมายถึง การแปลความหมายจากการสัมผัส โดยเริ่มตั้งแต่ การมีสิ่งเร้ามา กระทบกับอวัยวะรับสัมผัสทั้งห้า และส่งกระแสประสาท ไปยังสมอง เพื่อการแปลความ
กระบวนการของการรับรู้ (Process) เป็นกระบวนการที่คาบเกี่ยวกันระหว่างเรื่องความเข้าใจ การคิด การรู้สึก (Sensing) ความจำ (Memory) การเรียนรู้ (Learning) การตัดสินใจ (Decision making)
        Sensing -----> Memory ------> Learning -------> Decision making

       กระบวนการของการรับรู้ เกิดขึ้นเป็นลำดับดังนี้

สิ่งเร้าไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือสถานการณ์ มาเร้าอินทรีย์ ทำให้เกิดการสัมผัส (Sensation) และเมื่อเกิดการสัมผัสบุคคล จะเกิดมีอาการแปล การสัมผัสและมีเจตนา (Conation) ที่จะแปลสัมผัสนั้น การแปลสัมผัส จะเกิดขึ้นในสมอง ทำให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ เช่น การที่เราได้ยินเสียงดัง ปัง ปัง ๆ สมองจะแปลเสียงดังปัง ปัง โดยเปรียบเทียบกับเสียง ที่เคยได้ยินว่าเป็น เสียงของอะไร เสียงปืน เสียงระเบิด เสียงพลุ เสียงประทัด เสียงของท่อไอเสียรถ เสียงเครื่องยนต์ระเบิด หรือเสียงอะไร ในขณะเปรียบเทียบ จิตต้องมีเจตนา ปนอยู่ ทำให้เกิดแปลความหมาย และ ต่อไปก็รู้ว่า เสียงที่ได้ยินนั่นคือ เสียงอะไร อาจเป็นเสียงปืน เพราะบุคคลจะแปลความหมายได้ ถ้าบุคคลเคย มีประสบการณ์ในเสียงปืนมาก่อน และอาจแปลได้ว่า ปืนที่ดังเป็นปืนชนิดใด ถ้าเขาเป็นตำรวจ จากตัวอย่างข้างต้นนี้ เราอาจสรุป กระบวนการรับรู้ จะเกิดได้จะต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
1. มีสิ่งเร้า ( Stimulus ) ที่จะทำให้เกิด การรับรู้ เช่น สถานการณ์ เหตุการณ์ สิ่งแวดล้อม รอบกาย ที่เป็น คน สัตว์ และสิ่งของ
2. ประสาทสัมผัส ( Sense Organs ) ที่ทำให้เกิดความรู้สึกสัมผัส เช่น ตาดู หูฟัง จมูกได้ กลิ่น ลิ้นรู้รส และผิวหนังรู้ร้อนหนาว
3. ประสบการณ์ หรือความรู้เดิมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเร้าที่เราสัมผัส
4. การแปลความหมายของสิ่งที่เราสัมผัส สิ่งที่เคยพบเห็นมาแล้วย่อมจะอยู่ในความทรงจำของสมอง เมื่อบุคคลได้รับสิ่งเร้า สมองก็จะทำหน้าที่ทบทวนกับความรู้ที่มีอยู่เดิมว่า สิ่งเร้านั้นคืออะไร
        เมื่อมนุษย์เราถูกเร้าโดยสิ่งแวดล้อม ก็จะเกิดความรู้สึกจากการสัมผัส (Sensation) โดยอาศัยอวัยวะสัมผัสทั้ง 5 คือ ตา ทำหน้าที่ดูคือ มองเห็น หูทำหน้าที่ฟังคือ ได้ยิน ลิ้นทำหน้าที่รู้รส จมูก ทำหน้าที่ดมคือได้กลิ่น ผิวหนังทำหน้าที่สัมผัสคือรู้สึกได้อย่างถูกต้อง กระบวนการรับรู้ ก็สมบูรณ์แต่จริงๆ แล้วยังมีการสัมผัสภายในอีก 3 อย่างด้วยที่จะช่วยให้เรารับสัมผัสสิ่งต่างๆ

      ลำดับขั้นของกระบวนการรับรู้
      การรับรู้จะเกิดขึ้นได้ ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกระบวนการดังนี้
                ขั้นที่ 1 สิ่งเร้า( Stimulus )มากระทบอวัยวะสัมผัสของอินทรีย์ 
ขั้นที่ 2 กระแสประสาทสัมผัสวิ่งไปยังระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งมีศูนย์อยู่ที่สมองเพื่อสั่งการ ตรงนี้เกิดการรับรู้ ( Perception )
ขั้นที่ 3 สมองแปลความหมายออกมาเป็นความรู้ความเข้าใจโดยอาศัย ความรู้เดิม ประสบการณ์เดิม ความจำ เจตคติ ความต้องการ ปทัสถาน บุคลิกภาพ เชาวน์ปัญญา ทำให้เกิดการตอบสนองอย่างใดอย่างหนึ่ง การรับรู้ ( Perception )
ตัวอย่าง ขณะนอนอยู่ในห้องได้ยินเสียงร้องเรียกเหมียวๆๆรู้ว่าเป็นเสียงร้องของสัตว์ และรู้ต่อไปว่าเป็นเสียงของแมว เสียงเป็นเครื่องเร้า (Stimulus) เสียงแล่นมากระทบหูในหูมีปลายประสาท (End organ) เป็นเครื่องรับ (Receptor) เครื่องรับส่งกระแสความรู้สึก (Impulse) ไปทางประสาทสัมผัส (Sensory nerve) เข้าไปสู่สมอง สมองเกิดความตื่นตัวขึ้น (ตอนนี้เป็นสัมผัส) ครั้นแล้วสมองทำการแยกแยะว่า เสียงนั้นเป็นเสียงคนเป็นเสียงสัตว์ เป็นเสียงของแมวสาวเป็นเสียงแมวหนุ่ม ร้องทำไมเราเกิดอาการรับรู้ ตอนหลังนี้เป็น การรับรู้ เมื่อเรารู้ว่าเป็นเสียงของแมวเรียก ทำให้เราต้องการรู้ว่าแมวเป็นอะไร ร้องเรียกทำไมเราจึงลุกขึ้นไปดูแมวตาม ตำแหน่งเสียงมี่ได้ยินและขานรับ สมองก็สั่งให้กล้ามเนื้อปากทำการเปล่งเสียงขานรับ ตอนนี้ทางจิตวิทยาเรียกว่า ปฏิกิริยาหรือการตอบสนอง (Reaction หรือ Response) เมื่อประสาทตื่นตัวโดยเครื่องเร้า จะเกิดมีปฏิกิริยา คือ อาการตอบสนองต่อสิ่งเร้า
         กลไกของการรับรู้
               กลไกการรับรู้เกิดขึ้นจากทั้ง สิ่งเร้าภายนอกและภายในอินทรีย์ มีอิทธิพลต่อพฤติกรรม อวัยวะรับสัมผัส (Sensory organ) เป็น เครื่องรับสิ่งเร้าของมนุษย์ ส่วนที่รับความรู้สึกของอวัยวะรับสัมผัสอาจอยู่ลึกเข้าไปข้างใน มองจากภายนอกไม่เห็น อวัยวะรับสัมผัส แต่ละอย่างมีประสาทรับสัมผัส (Sensory nerve) ช่วยเชื่อมอวัยวะรับสัมผัสกับเขตแดนการรับสัมผัสต่าง ๆ ที่สมอง และส่งผ่านประสาทมอเตอร์ (Motor nerve) ไปสู่อวัยวะมอเตอร์ (Motor organ) ซึ่งประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อและต่อมต่างๆ ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองของอวัยวะมอเตอร์ และจะออกมาในรูปใดขึ้นอยู่กับ การบังคับบัญชาของระบบประสาท ส่วนสาเหตุที่มนุษย์เราสามารถไวต่อความรู้สึกก็เพราะ เซลประสาทของประสาทรับสัมผัส แบ่งแยกแตกออกเป็นกิ่งก้านแผ่ไปติดต่อกับ อวัยวะรับสัมผัส และที่อวัยวะรับสัมผัสมีเซลรับสัมผัส ที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวจึง สามารถทำให้มนุษย์รับสัมผัสได้
                มนุษย์ย่อมมีพฤติกรรม สนองตอบสิ่งแวดล้อมกระบวนการของการรับรู้เป็นสิ่งแรกที่มนุษย์สนองตอบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบประสาท อวัยวะสัมผัส เป็นปัจจัยสำคัญของกระบวนการรับรู้ต้องมีความสมบูรณ์จึงจะสามารถรับรู้สิ่งเร้าได้ดีเพราะอวัยวะสัมผัสรับสิ่งเร้า ที่มากระทบประสาทรับสัมผัสส่งกระแสประสาทไปยังสมองเพื่อให้สมองแปลความหมายออกมา เกิดเป็นการรับรู้ และอวัยวะสัมผัสของมนุษย์ มีขีดความสามารถจำกัด กลิ่นอ่อนเกินไป เสียงเบาเกินไป แสงน้อยเกินไปย่อมจะรับสัมผัสไม่ได้ ดังนั้นประเภท ขนาด คุณภาพของสิ่งเร้าจึงมีผลต่อการรับรู้และการตอบสนอง สิ่งเร้าบางประเภทไม่สามารถกระตุ้นอวัยวะสัมผัสของเราได้ เช่น คลื่นวิทยุ

หลักการบริหารจัดการสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล

เรื่อง หลักการบริหารจัดการสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล
      1.การบริหารที่มุ่งผลสัมฤทธิ์โดยใช้ทฤษฎีลำดับความต้องการ ของอับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow) เป็นการบริหารที่มีเป้าหมายชัดเจนด้วยการเข้าถึงควรต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้เรียน ครู ผู้ปกครอง ชุมชน ล้วนแล้วแต่มีความคาดหวังต่อการจัดการศึกษาของสถานศึกษาแต่ละแห่ง ซึ่งเป็นลำดับความต้องการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้บริหารสถานต้องเข้าใจทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการเป็นอย่างดี โดยสมติฐานพฤติกรรมของคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสถานศึกษาไว้ 3 ประการ ได้แก่
        ประการที่ 1 คนมีความต้องการ ไม่มีที่สิ้นสุด
        ประการที่ 2 ความต้องการของคนจะถูกเรียงลำดับความสำคัญ
        ประการที่ 3 คนที่จะก้าวไปสู่ความต้องการระดับต่อไป เมื่อความต้องการในระดับต่ำลงมาได้รับการตอบสนองอย่างดีแล้วเท่านั้น
อับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow) ได้แบ่งลำดับความต้องการของมนุษย์ไว้ 5 ลำดับ ดังนี้
ลำดับที่่ 1 ความต้องการทางกาย
ลำดับที่ 2 ความต้องการความปลอดภัย
ลำดับที่ 3 ความต้องการการยอมรับในสังคม
ลำดับที่ 4 ความต้องการมีเกียรติยศชื่อเสียง
ลำดับที่ 5 ความต้องการความสำเร็จในชีวิต
การบริหารที่มุ่งผลสัมฤทธิ์โดยใช้ทฤษฎีลำดับความต้องการนั้นต้องมีการตอบสนองให้คนได้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการ โดยผู้บริหารต้องมีกุศโลบายที่แนบเนียนและแยบยลพอสมควรที่จะทำให้คนได้ทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มศักยาภาพ เพื่อให้สถานศึกษามีผลสัมฤทธิ์ที่ดี่เยี่ยม ซึ่งมีแนวทางการดำเนินการประยุกต์ใช้ดังนี้
        1.1   มุ่งผลสัมฤทธิ์จากการตอบสนองความต้องการทางกาย การสนองตอบความต้องการทางกายนั้น ซึ่งจะดำเนินการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพภายในสถานศึกษาให้น่าอยู่ สร้างบรรยาศที่เป็นแหล่งเรียนรู้ภายในสถานศึกษา ปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น สร้างสวนย่อมในที่ที่เหมาะสม ทำสนามฟุตบอลให้น่าเล่น พัฒนาสถานที่พักผ่อนให้ผู้เรียนและครูได้มีโอกาสได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพิ่มเติมจากในห้องเรียน จัดสถานที่รับประทานอาหารและน้ำดื่มที่สะอาดถูกสุขอนามัย จัดห้องพักครูที่มีมุมคลายเครียด มีน้ำดื่ม น้ำชา กาแฟ ไว้บริการสำหรับครูและผู้มาติดต่อราชการอย่างเพียงพอ จัดมุมความรู้ทุกที่ในโรงเรียนส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของผู้เรียนและครู ปรับปรุงห้องน้ำของผู้เรียนและครูให้เพียงพอ สะอาดถูกสุขลักษณะ จัดให้มีห้องพยาบาลสำหรับผู้เรียนและครู จัดให้มีสื่อและเทคโนโลยีสมัยใหม่สำหรับการเรียนรู้โลกไร้พรมแดนที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้เรียน ครู และผู้มาใช้บริการอย่างเพียงพอ
        1.2   มุ่งผลสัมฤทธิ์จากการตอบสนองความต้องการความปลอดภัย สิ่งสำคัญที่จะให้สถานศึกษาน่าอยู่คือการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสถานที่ให้มั่นคงแข็งแรงปลอดภัยอยู่เสมอ ปรับปรุงภูมิทัศน์ ตรวจสอบสายไฟฟ้าภายในสถานศึกษา จัดให้มีถึงดับเพลิงไว้หลายๆ จุด พร้อมทั้งตรวจสภาพถังดับเพลิงให้สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา จัดให้มีที่จอดรถสำหรับครู และนักเรียน ตลอดจนผู้ที่มาติดต่อราชการ ปรับปรุงบ้านพักครูให้น่าอยู่และปลอดภัย จัดให้มียามรักษาการณ์ภายสถานศึกษาทั้งเวลากลางวันและกลางคืน ติดต้องวงจรปิดภายในสถานศึกษาเพื่อป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้น สร้างรั้วรอบโรงเรียน ติดไฟส่องสว่างในเวลากลางคืนให้คุ้มค่าและปลอดภัย มีการทำประกันภัยหมู่สำหรับผู้เรียน และครูทุกคน จัดให้มีการตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับครูและนักเรียน
        1.3   มุ่งผลสัมฤทธิ์จากการตอบสนองความต้องการการยอมรับในสังคม จัดให้มีกิจกรรมสานสัมพันธ์ของคณะครู ผู้บริหาร นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน เช่น กิจกรรมกีฬาสีสัมพันธ์ ร่วมกิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีของท้องถิ่น เป็นต้น ส่งเสริมให้ครูได้ถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน หรือต่างหน่วยงาน โดยการเป็นวิทยากร ส่งเสริมสนับสนุนผู้เรียนให้เข้าร่วมแข่งขันทักษะความสามารถต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทักษะทางวิชาการ กีฬา ดนตรี หรือความสามารถพิเศษอื่นใดในระดับโรงเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ระดับภาค ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ อีกทั้งสร้างวัฒนธรรมการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสถานศึกษา เช่น การเยี่ยมบ้านผู้เรียน การเยี่ยมเยียนเมื่อเจ็บป่วย การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมต่างๆ เป็นต้น สร้างวัฒนธรรมการมีสัมมาคารวะ กาลเทศะ
       1.4   มุ่งผลสัมฤทธิ์จากการตอบสนองความต้องการมีเกียรติยศชื่อเสียง ส่งเสริมให้ครูได้เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ความสามารถของตนเอง ส่งเสริมสนับสนุนผู้เรียนให้เข้าร่วมแข่งขันทักษะความสามารถต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทักษะทางวิชาการ กีฬา ดนตรี หรือความสามารถพิเศษอื่นใดในระดับโรงเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ระดับภาค ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ พร้อมทั้งมีเวทีสำหรับการยกย่องชมเชยความดีงานของครูและผู้เรียนที่มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในเกณฑ์ดีเยี่ยม ส่งเสริมให้ครูขอและมีวิทยฐานะที่สูงขึ้น พิจารณาความดีความชอบเป็นกรณีพิเศษสำหรับครูผู้มีผลงานที่สร้างเกียรติชื่อเสียงให้กับโรงเรียนและครูผู้เสียสละทุ่มเทประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเพื่อนครูและผู้เรียน
          1.5   มุ่งผลสัมฤทธิ์จากการตอบสนองความต้องการความสำเร็จในชีวิต ส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนต่อระดับที่สูงขึ้นให้ครบทุกคน ส่งเสริมให้ครูขอและมีวิทยฐานะที่สูงขึ้น สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่น่าอยู่อย่างมีความสุข มีการให้ความรู้สำหรับครูก่อนวัยเกษียณ มีการแนะแนวทางการศึกษาต่อสำหรับผู้เรียน มีทุนการศึกษาให้ผู้เรียนที่มีผลการเรียนยอดเยี่ยมและมีความประพฤติดี
         เมื่อสนองความต้องการให้กับคนได้อย่างครบถ้วนแล้วพวกเขาก็จะดึงศักยภาพของตนเองออกมาแสดงอย่างเต็มที่ การบริหารที่มุ่งผลสัมฤทธิ์นั้นก็จะเป็นมรรคเป็นผลอย่างแท้จริงและยั่งยืนสืบไปอย่างแน่นอน แต่ผู้บริหารอย่าลืมไปว่า ความต้องการของคนไม่มีที่สิ้นสุด

        2. การบริหารที่ยืดหยุ่นโดยใช้ทฤษฎีใบพัดองค์การ (POCCC) ของอองรี ฟาร์โยล์ (Henri Fayol) ซึ่งเป็นการบริหารจัดการสถานศึกษาที่ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีแนวทางการดำเนินการประยุกต์ใช้ทฤษฎีดังนี้
       2.1   ประสิทธิภาพจากการวางแผน (P-Planning) ผู้บริหารจะต้องมีการวางแผนที่ดีด้วยแผนกลยุทธ์ นโยบาย แผนงาน โครงการ ที่ชัดเจนเข้าใจง่าย โดยการวางแผนนั้นต้องมีแนวปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ แผนพัฒนาการศึกษา และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย ซึ่งจะเป็นแนวทางในการวางแผนกลยุทธ์ของสถานศึกษาได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งต้องสามารถปรับปรุงยืดหยุ่นให้สอดรับกับนโยบายของรัฐและต้นสังกัด ทันกับสถานการณ์ของโลกปัจจุบันให้เป็นวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ ของสถานศึกษา
         2.2   ประสิทธิภาพจากการจัดองค์กร (O-Organizing) การจัดองค์กรถือเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าสิ่งใดเลย ผู้บริหารต้องมีการจัดโครงสร้างของสถานศกึษาอย่างชัดเจน ตามสายงาน จัดบุคคลากรตามสายบังคับบัญชา พร้อมทั้งแบ่งหน้าที่ของฝ่ายงานอย่างถูกต้อง เป็นระบบงาน อันได้แก่ งานบริหารวิชาการ งานบริหารงบประมาณ งานบริหารบุคคล และงานบริหารทั่วไป และแต่ละฝ่ายงานต้องมีทีมงานในการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ที่ได้วางเอาไว้
          2.3   ประสิทธิภาพจากการบังคับบัญชา (C-Commanding) หลังจากการจัดองค์กรแล้วผู้บริหารก็ต้องมีการบังคับบัญชาตามตำแหน่งหน้าที่ได้รับมอบหมาย มีการตัดสินใจสั่งการที่เป็นกัลยาณมิตร ผู้บริหารต้องมีการสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษรทุกครั้ง เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการบังคับบัญชาดูแลตรวจสอบและติดตามการสั่งการในแต่ละงาน
           2.4   ประสิทธิภาพจากการประสานงาน (C-Coordinating) ผู้บริหารจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือการประสานงานทั้งภายในองค์กรและระหว่างองค์กร ดังนั้นผู้บริหารต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการสื่อสารเพื่อประสานงานต่างๆ ด้วยความนุ่มนวล แนบเนียน หนักแน่น และแน่นอน ให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสถานศึกษา ทั้งรูปแบบของคณะกรรมการสถานศึกษา และสมาคมผู้ปกครองและครู
            2.5   ประสิทธิภาพจากการควบคุม (C-Controlling) การบริหารสถานศึกษานั้น ผู้บริหารสถานศึกษาต้องจำเป็นต้องมีการควบคุม ดูแล ทรัพยากรทางการศึกษาที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่า อันได้แก่ บุคลากร งบประมาณ เครื่องมือ การจัดการ เวลา และเทคโนโลยี ซึ่งต้องมีควบคุมติดตามทุกฝ่ายงานด้วยวงจรคุณภาพ (PDCA) เพื่อให้การจัดการศึกษามีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอพียง
การบริหารจัดการสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพด้วยทฤษฎีใบพัดองค์การ (POCCC) นั้นสามารถใช้ได้ทุกยุกต์ทุกสมัย และเหมาะกับการบริหารการศึกษาที่ต้องคำนึงถึงคุณภาพของผลผลิต นั่นคือ ผู้เรียนเป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุขอย่างยั่งยืนตลอดไป

           3.การบริหารให้เกิดประสิทธิผลเชิงวิทยาศาสตร์ ของเฟรเดอริค เทเลอ (Frederick W. Taylor) เป็นการบริหารแนวใหม่ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการที่ส่งเสริมวัฒนธรรมและค่านิยมขององค์กรซึ่งได้รับการยอมรับกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งกระบวนการทางวิทยาศาสตร์นั้นจะมีทั้งเหตุและผลมาอธิบายสมมติฐานที่วางเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งมีแนวทางการดำเนินการประยุกต์ใช้ทฤษฎีดังนี้
           3.1   ประสิทธิผลจากการพัฒนาการวิเคราะห์งานเชิงวิทยาศาสตร์ จะต้องวางแผนกลยุทธ์สถานศึกษาตามนโยบายที่รัฐกำหนดให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ เพื่อจัดการศึกษาให้เกิดประสิทธิผลจากการพัฒนาการวิเคราะห์งานเชิงวิทยาศาสตร์ โดยการวิเคราะห์องค์ประกอบของแต่ละงานใน 4 งาน โดยการทำ SWOT Analysis อันได้แก่ งานบริหารวิชาการ งานบริหารงบประมาณ งานบริหารบุคคล และงานบริหารทั่วไปว่าแต่ละงานต้องมีขอบเขตงานอย่างไร มีโครงสร้างอย่างไร มีวิธีการดำเนินการอย่างไร และผลผลิตเป็นอย่างไร ต้องกำหนดให้ชัดเจนเป็นกลยุทธ์ แผนงาน โครงการ ที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงผู้เรียนเป็นสำคัญ
          3.2   ประสิทธิผลจากการคัดเลือก การฝึกอบรม และการพัฒนาครูในเชิงวิทยาศาสตร์ จะต้องคัดเลือกให้ครูได้ปฏิบัติหน้าที่ตามความสมัครใจและความสามารถของตนเองอย่างเต็มศักยภาพ พัฒนาครูให้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนอย่างเต็มที่ด้วยการศึกษาต่อในระดับที่สูงขั้นหรือการฝึกอบรมความรู้และทักษะที่สามารถเพิ่มพูนศักยภาพของครูให้สูงขึ้น ให้ครูสามารถพัฒนาตนเองเพื่อเปลี่ยตำแหน่งงานของตนส่งเสริมให้ครูได้ถ่ายทอดวิทยาการภายในสถานศึกษาและภายนอก พร้อมทั้งสนับสนุนให้ครูมีวิทยฐานะที่สูงขึ้น ให้ครูได้แสดงศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีศักยภาพที่สูงขึ้นตามไปด้วยจึงถือได้ว่าการบริหารสถานศึกษาเกิดประสิทธิผล
          3.3   ประสิทธิผลจากความร่วมมือที่ใกล้ชิดของครูและผู้บริหาร จะต้องบริหารจัดการสถานศึกษาให้เกิดประสิทธิผลจากความร่วมมือแบบกัลยาณมิตรด้วยการทำงานเป็นทีม สร้างความสามัคคีในหมู่คณะ ต้องใช้มนุษยสัมพันธ์ในการทำงาน ครูทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสถานศึกษาแบบบูรณาการ แบ่งเค้กตามสัดส่วนของคนด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อย่างยุติธรรมปราศจากอคติ
          3.4   ประสิทธิผลจากการแจกแจงงานและความรับผิดชอบที่เป็นรูปแบบเดียวกัน จะต้องจัดทำโครงสร้างฝ่ายงานที่ชัดเจน มีขอบเขตภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจนและเหมาะกับตนเองมากที่สุดทั้ง 4 งาน อันได้แก่ งานบริหารวิชาการ งานบริหารงบประมาณ งานบริหารบุคคล และงานบริหารทั่วไป ให้เป็นรูปแบบการสั่งการเดียวกันและเท่าเทียมกันตามภารกิจของแต่ละฝ่ายงาน พร้อมทั้งจัดคนเข้าทำงานในแต่ละตำแหน่งอย่างเหมาะสมกับความสามารถของแต่ละบุคคล และจะไม่ใช่อำนาจโดยพลการต้องผ่านมติของที่ประชุมทุกครั้งไป




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การปรับพฤติกรรม

การปรับพฤติกรรม          นักจิตวิทยาใช้คำว่า “ พฤติกรรม ” เป็นสื่อระบุถึงการกระทำอันเนื่องมาจากการกระตุ้น หรือถูกจูงใจจากสิ่งเร้าต่าง...