การเรียนรู้เเบบภาระงานเป็นฐาน (Task Based Learning)
นักวิชาการหลายท่านได้กล่าวถึงความหมายของภาระงานไว้ดังนี้
วิลลิซ และ วิลลิซ (Willis and Willis. 1996 : 53 - 54) ได้กล่าวถึงความหมายของภาระงานไว้ว่า
ภาระงานคือกิจกรรมที่มีเป้าหมายมุ่งเน้นให้ผู้เรียนใช้ภาษาเพื่อบรรลุผลที่แท้จริง
หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าผู้เรียนจะใช้ทรัพยากรของภาษาเป้าหมายอะไรก็ตามที่พวกเขามีอยู่เพื่อที่จะใช้แก้ปัญหา
ไขปริศนา เล่นเกม หรือแบ่งปันและเปรียบเทียบประสบการณ์
ภาระงานมีจุดเริ่มต้นที่หลากหลาย โดยอาจจะมาจากข้อมูลที่ผู้เรียนมี อย่างเช่น
ประสบการณ์ส่วนตัว ความรู้ทั่วไป ภาระงานอาจจะมาจากงานเขียน บันทึกข้อมูลเสียง
หรือบันทึกข้อมูลภาพ และอาจจะเป็นกิจกรรมอย่างเช่น เกมต่างๆ การสาธิต
หรือการสัมภาษณ์
แบรนเดน (Branden. 2006 : 4) ได้กล่าวถึงความหมายของภาระงานไว้ว่า ภาระงาน
คือกิจกรรมที่มีคนมีส่วนร่วมเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายซึ่งต้องมีการใช้ภาษา
การใช้ภาษาในที่นี้คือการบรรลุเป้าหมายโดยการเข้าใจภาษาที่ป้อนและการสร้างผลผลิตทางภาษา
ตัวอย่างเช่น การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสถานการณ์จริงผ่านการใช้ภาษา
ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้มากขึ้น
ไบเกต (Bygate. 2001 : 23) กล่าวถึงความสำคัญของภาระงานไว้ว่า
การใช้ภาระงานเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทักษะภาษาเป้าหมายของผู้เรียน
ในประเภทของภาระงานที่แตกต่างกันออกไปช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนและพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาเป้าหมายสื่อสารได้อย่างมีความหมาย
พราบู (Prabhu. 1987 : 46 – 47) แบ่งประเภทของกิจกรรมที่เป็นภาระงานออกเป็น 3 ประเภท
ซึ่งประเภทของภาระงานนี้อยู่ในช่วงเริ่มแรกของการนำภาระงานมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน
ได้แก่ กิจกรรมการแลกเปลี่ยนข้อมูล กิจกรรมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
กิจกรรมการนำเสนอข้อมูลใหม่ ดังนี้
1. กิจกรรมการแลกเปลี่ยนข้อมูล (information -
gap task) เป็นกิจกรรมที่ก่อให้ผู้เรียนเกิดการส่งผ่านข้อมูลจากคนหนึ่งไปถึงอีกคน
ในการทำกิจกรรมผู้เรียนจะต้องได้ใช้ภาษาสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลของตนกับสมาชิกในกลุ่มหรือภายในห้องเรียน
เช่น การกำหนดตารางที่มีรายละเอียดยังไม่สมบูรณ์ และ
มีข้อมูลที่สัมพันธ์กันกับตารางนั้นๆแจกให้ผู้เรียนเป็นข้อความที่แตกต่างกัน
ซึ่งในการทำกิจกรรมนี้ผู้เรียนจะต้องได้การใช้ภาษาสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อความที่ตนมีกับผู้อื่น
โดยที่ผู้เรียนจะต้องหาข้อความของสมาชิกคนอื่นที่มีความสัมพันธ์กับข้อความที่ตนได้รับเพื่อนำไปเติมลงในตารางให้สมบูรณ์
2. กิจกรรมการนำเสนอข้อมูลใหม่ (reasoning - gap
task) เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้นำเสนอข้อมูลใหม่จากข้อมูลที่ได้รับโดยผ่านการคิดจากการวิเคราะห์
การอนุมาน การวินิจฉัย การให้เหตุผล หรือตามความคิดเห็นส่วนตัว เช่น
ผู้สอนให้ผู้เรียนจัดตารางเรียนใหม่ โดยทำการระบุเวลาและรายวิชา
และให้เหตุผลในการจัดตารางได้อย่างเหมาะสม
3. กิจกรรมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น (opinion-gap
task) เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนจะต้องได้แสดงความรู้สึก
ความคิดเห็นหรือทัศนคติต่อเรื่องราวหรือสถานการณ์ที่ผู้สอนกำหนดให้ เช่น
การร่วมกันอภิปรายในหัวข้อเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสังคม
และร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น
นูแนน (Nunan. 2004 : 1) ได้กำหนดรูปแบบของภาระงานไว้ 2 ประเภท คือ ภาระงานเพื่อการเรียนการสอน (pedagogical task) ซึ่งเป็นภาระงานในชั้นเรียน และภาระงานจริง (real- world
task) ซึ่งเป็นภาระงานที่เน้นการฝึกใช้ภาษาในชีวิตประจำวัน
มีรายละเอียดดังนี้
1. ภาระงานเพื่อการเรียนการสอน (pedagogical
task)
นูแนน (Nunan. 2004 : 20 - 21) กล่าวถึงความหมายของภาระงานเพื่อการเรียนการสอนไว้ว่า
ภาระงานเพื่อการเรียนการสอนช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนภาษาจากการทำกิจกรรมผ่านการทำภาระงานในห้องเรียน
โดยแบ่งประเภทของภาระงานเพื่อการเรียนการสอนไว้ 2 ประเภท
ดังนี้
1.1 ภาระงานเพื่อการฝึกฝน (rehearsal
rational) เป็นภาระงานที่ผู้เรียนจะได้ฝึกใช้ภาษาอย่างมีเป้าหมาย
และฝึกใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน เช่น
การเขียนประวัติของตัวเองเพื่อใช้ในการสมัครงาน (resume) ผู้เรียนจะได้ฝึกใช้ภาษาอย่างถูกต้อง และสื่อสารได้อย่างมีความหมาย
โดยการทำภาระงานนี้จะช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกและพัฒนาทักษะทางภาษาของตนเองได้ดียิ่งขึ้นผ่านการทำกิจกรรมแบบจับคู่และได้รับคำแนะนำจากผู้สอน
1.2 ภาระงานเพื่อการกระตุ้น (activation
rationale) เช่น การจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนทำภาระงานกลุ่มๆ ละ 3 คน โดยกำหนดสถานการณ์ให้ ผู้เรียนอยู่บนเรือที่กำลังจะจม
และผู้เรียนต้องว่ายน้ำไปที่เกาะถึงจะรอดจากการจมน้ำ โดยมีเงื่อนไขว่าผู้เรียนมีภาชนะกันน้ำ 1 อย่างที่สามารถบรรจุของได้ 20 กิโล
ให้ผู้เรียนตัดสินใจเลือกสิ่งของที่จะนำไปด้วย
โดยมีรายการต่างๆตามที่ผู้สอนได้กำหนดไว้
การทำภาระงานนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เรียนได้รับการกระตุ้นจากสถานการณ์ที่ได้รับเพื่อให้เกิดการใช้ภาษาและโครงสร้าง
ทั้งการพูดแสดงความคิดเห็น การพูดเพื่อตัดสินใจ การให้คำแนะนำ การพูดถึงปริมาณ
เป็นต้น
ริชาร์ด (Richards. 2001 : 162) ได้นำเสนอรูปแบบของการจัดภาระงานเพื่อการเรียนการสอน (pedagogical
task) ที่แตกต่างกันไว้อีก 5 ประเภท
ดังนี้
1. ภาระงานประเภทจิ๊กซอว์ (jigsaw
task) เป็นกิจกรรมภาระงานที่ให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมร่วมกับผู้เรียนคนอื่นๆเพื่อเรียบเรียงเรื่องราวให้สัมพันธ์กัน
เช่น ผู้เรียนได้รับเนื้อหาเกี่ยวกับนิทานที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม
ผู้เรียนจะต้องทำการเล่าเรื่องร่วมกันกับกลุ่มอื่นๆโดยลำดับเหตุการณ์ตามท้องเรื่องได้อย่างถูกต้อง
2. ภาระงานแลกเปลี่ยนข้อมูล (information
- gap task) เป็นกิจกรรมภาระงานที่ให้ผู้เรียนได้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างบุคคลหรือกลุ่ม
โดยที่จะได้รับชุดข้อมูลที่แตกต่างกัน ผู้เรียนจะต้องทำการสื่อสารเพื่อขอและให้ข้อมูลเพื่อให้ภาระงานนั้นแล้วเสร็จ
3. ภาระงานแก้ปัญหา (problem solving
task) เป็นกิจกรรมภาระงานที่ให้ผู้เรียนได้คิดหาแนวทางแก้ปัญหาตามสถานการณ์ที่กำหนดตามชุดของข้อมูลที่กำหนดให้
4. ภาระงานเพื่อการตัดสินใจ (decision -
making task) เป็นกิจกรรมภาระงานที่ให้ผู้เรียนได้ใช้เหตุผลในการตัดสินใจต่อเรื่องหรือปัญหาที่ผู้สอนกำหนด
โดยผู้เรียนต้องอธิบายเหตุผลที่เลือกตัดสินใจสิ่งนั้น
5. ภาระงานแลกเปลี่ยนความคิดเห็น (opinion
exchange tasks) เป็นกิจกรรมภาระงานที่ให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการอภิปรายและแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกัน
โดยไม่จำเป็นต้องมีความเห็นที่ตรงกันกับบุคคลอื่น
2. ภาระงานจริง (real-world task)
นูแนน (Nunan. 2004 : 19 - 20) กล่าวถึงความสำคัญของภาระงานจริงไว้ว่า
ภาระงานจริงคือสิ่งที่เราทำเป็นประจำในทุกๆวัน เป็นการใช้ภาษาในชีวิตประจำวัน
ทั้งการเขียนบทกลอนจนรวมไปถึงการจองตั๋วเครื่องบิน
ภาระงานจริงมุ่งเน้นไปยังการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านการสื่อสารระหว่างบุคคล
โดยในทั่วไปนั้นมีระดับการใช้ภาษาอยู่ 3 ประเภท
ดังนี้
2.1 การใช้ภาษาเพื่อการค้าและบริการ (goods
and services)
2.2 การใช้ภาษาเพื่อปฎิสัมพันธ์ในสังคม (social
macrofunction)
2.3 การใช้ภาษาเพื่อความเพลิดเพลิน (aesthetic
macrofunction)
ตัวอย่างการจัดกิจกรรมของภาระงานจริงตามรูปแบบของนูแนน
เช่น บทสนทนาในชีวิตจริง
As in the following (invented) example:
A: Nice day.
B: That it is. What can I do for you?
A: I’d like a round-trip ticket to the airport,
please. เป็นต้น
วิลลิซ (Willis. 2011 : 136 - 141) กล่าวถึงความหมายของภาระงานจริงไว้ว่า ภาระงานจริงเป็นการจัดการเรียนรู้แบบเน้นภาระงานที่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ภาษาจริงในสังคม
ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับความหมาย คือ
ขั้นที่ผู้เรียนสร้างความหมายเพื่อการสื่อสารได้จริง ระดับสื่อสาร คือ
ขั้นที่ผู้เรียนเข้าใจถึงพฤติกรรมการสื่อสารในสถานการณ์จริง เช่น การเดาความหมาย
การแสดงความคิดว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ระดับกิจกรรม คือ
ขั้นที่ผู้เรียนใช้ภาษาสื่อสารเพื่อทำกิจกรรมได้เสมือนกับสถานการณ์จริงนอกห้องเรียน
เช่น การเล่าเรื่อง การอธิบายถึงวิธีการประดิษฐ์สิ่งของ เป็นต้น
วิลลิซยังได้กล่าวถึงภาระงานที่เกี่ยวโยงกันกับการใช้ภาษาในสถานการณ์จริง
ดังนี้
1. ภาษาเพื่อจุดประสงค์เฉพาะทาง (English
for specific purposes) ในการจัดการเรียนรู้แบบภาษาเพื่อจุดประสงค์เฉพาะทาง
ผู้สอนจะต้องสะท้อนให้ผู้เรียนได้เกิดการใช้ภาษาได้เสมือนในสถานการณ์จริง เช่น
ภาษาเพื่อจุดประสงค์ทางวิชาการ และภาษาเพื่อการประกอบอาชีพ
ดังตัวอย่างภาระงานภาษาเพื่อจุดประสงค์เฉพาะทางตามรูปแบบของวิลลิซ คือ
ภาระงานการทำนาย (prediction
task) เช่น การให้อ่านบทความเชิงวิชาการ
เพื่อให้เกิดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาเฉพาะทาง โดยอาจมีการกำหนดขั้นตอนการทำกิจกรรมเริ่มจากจับกลุ่มสามคน
อ่านบทความหรืองานวิจัย จดบันทึกคำถามที่สำคัญที่อาจมีคำตอบอยู่ในบทความ
จากนั้นผู้สอนจึงถามผู้เรียนทายคำตอบสิ่งที่กลุ่มตนเองได้ตั้งคำถามไว้
2. ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน (everyday
English) ในการจัดการเรียนรู้แบบภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน
มักเป็นรูปแบบของการให้ภาระงานที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์จริง เช่น การพูดสนทนา
การอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ การร่วมกันสรุปและอภิปรายในหัวข้อต่างๆ
ร่วมกันในห้องเรียนโดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้ใช้ภาษาสื่อสารได้มากที่สุด
นอกจากนี้นูแนน (Nunan. 2004 : 59 - 61) ได้แบ่งเกณฑ์การจัดการเรียนรู้โดยใช้ภาระงานและกล่าวถึงการจัดกิจกรรมโดยใช้ภาระงานไว้ว่า
การใช้ภาระงานแต่ละประเภทในการจัดกิจกรรมจะต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและเป้าหมายในการสื่อสารที่ผู้สอนต้องการฝึกฝนผู้เรียน
ซึ่งการจัดกิจกรรมได้อย่างตรงตามความต้องการของผู้เรียนจะช่วยให้การฝึกภาษาเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยได้จำแนกเกณฑ์ภาระงานให้ผู้สอนออกเป็น 5 ประเภท
คือ องค์ความรู้ (cognitive) ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
(interpersonal) ภาษาศาสตร์ (linguistic) ความรู้สึกและอารมณ์ (affective) และ
ความสร้างสรรค์ (creative) โดยรายละเอียดและรูปแบบในการจัดกิจกรรมมีดังต่อไปนี้
1. แบ่งโดยใช้องค์ความรู้ (cognitive) โดยภาระงานที่แบ่งโดยใช้องค์ความรู้มีแนวทางการจัดกิจกรรมอยู่ 8 ประเภท ดังนี้
1.1 การจัดหมวดหมู่ (classifying) เป็นกิจกรรมที่เน้นให้ผู้เรียนได้จัดกลุ่มหรือสิ่งที่มีความคล้ายกันให้อยู่ในกลุ่ม
เช่น การศึกษาและจัดกลุ่มรายชื่อระหว่างหญิง-ชาย ได้อย่างถูกต้อง
1.2 การทำนาย (predicting) เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้ทำนายถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการเรียนรู้
เช่น ดูชื่อหน่วยการเรียนรู้และวัตถุประสงค์และทายว่ากำลังจะได้เรียนเรื่องอะไร
เกี่ยวกับอะไร เป็นต้น
1.3 การกระตุ้น (inducing) เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้รับการกระตุ้นให้เกิดการใช้โครงสร้างทางภาษา
เช่น การศึกษาบทสนทนาและค้นพบได้ว่าบทสนทนานั้นมีลักษณะโครงสร้างในรูปแบบของ simple
past tense
1.4 การจดบันทึก (taking
notes) เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนจดบันทึกสิ่งที่เรียนลงในสมุดโดยใช้ภาษาเป็นคำพูดของตัวเอง
1.5 การทำแผนผังความคิด (concept
mapping) เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนเขียนแสดงใจความสำคัญของเนื้อหาที่เรียนในรูปแบบของแผนผังความคิด
1.6 การสรุปความ (inferencing) เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนสรุปถึงสิ่งที่รู้ก่อนแล้วเพื่อที่จะเชื่อมโยงไปยังสิ่งที่จะเรียนรู้ใหม่
1.7 การจำแนกแยกแยะ (discriminating) เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้จำแนกระหว่างสิ่งที่เป็นใจความสำคัญและสิ่งที่เป็นข้อมูลสนับสนุนได้
1.8 การสร้างผังไดอะแกรม (diagramming) เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนนำเนื้อหาที่เรียนมาสรุปลงในผังไดอะแกรม
2. แบ่งตามรูปแบบความสัมพันธ์ (interpersonal) โดยภาระงานที่แบ่งตามความสัมพันธ์มีแนวทางการจัดกิจกรรมอยู่ 2 ประเภท ดังนี้
2.1 การทำงานร่วมกัน (co-operating) เป็นการจัดกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้ทำภาระงานร่วมกัน เช่น
อ่านและสรุปใจความสำคัญร่วมกันกับสมาชิกภายในกลุ่ม
2.2 การแสดงบทบาทสมมติ (role
playing) เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้แสดงบทบาทสมมติและใช้ภาษาในการแสดงอย่างเหมาะสมตามบทบาทของตน
เช่น กำหนดให้ผู้เรียนเป็นผู้สื่อข่าว
นำข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์มาพูดแสดงตามบทบาทได้อย่างเหมาะสม
3. แบ่งตามลักษณะทางภาษาศาสตร์ (linguistic) โดยภาระงานที่แบ่งลักษณะทางภาษาศาสตร์มีแนวทางการจัดกิจกรรมอยู่ 6 ประเภท ดังนี้
3.1 รูปแบบการสนทนา (conversational
patterns) เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้ใช้คำที่แสดงออกถึงความรู้สึกในลักษณะต่างๆเพื่อการสนทนา
เช่น การจับคู่คำที่แสดงความรู้สึกได้ตรงตามสถานการณ์ที่กำหนดให้
3.2 การฝึก (practising) เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนภาษาเพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะทางภาษา
เช่น ฟังบทสนทนาและจับคู่ฝึกพูดตามบทสนทนา
3.3 การเลือกใช้คำตรงตามบริบท (using
context) เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้ฝึกใช้คำ วลี
หรือความหมาย ได้ตรงตามบริบทที่กำหนดให้
3.4 การสรุป (summarizing) เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนเลือกและนำเสนอในส่วนที่เป็นใจความสำคัญในเนื้อหาที่เรียน
นำเสนอในรูปแบบของการสรุปความ
3.5 การฟังอย่างมีจุดมุ่งหมาย (selective
listening) เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้ฟังข้อมูลเพื่อหาใจความสำคัญโดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าใจความหมายในทุกประโยค
เช่น การฟังบทสนทนาและระบุได้ว่ามีผู้พูดทั้งหมดกี่คน
3.6 การอ่านเพื่อหาส่วนสำคัญ (skimming) เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้อ่านเพื่อหาส่วนสำคัญของเนื้อหานั้นๆได้อย่างรวดเร็ว
เช่น อ่านและตัดสินใจทันทีว่าเนื้อหาที่อ่านเป็นบทความ หนังสือพิมพ์ หรือ
ข้อความโฆษณา เป็นต้น
4. แบ่งโดยความรู้สึกและอารมณ์ (affective) โดยภาระงานที่แบ่งตามความรู้สึกและอารมณ์มีแนวทางการจัดกิจกรรมอยู่ 3 ประเภท ดังนี้
4.1 การแบ่งปันความคิดเห็นส่วนตัว (personalizing) เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้พูดแบ่งปันความคิดเห็นส่วนตัว
ความรู้สึกต่อแต่ละสถานการณ์ เช่น จับคู่อ่านจดหมายและผลัดกันให้คำปรึกษา
4.2 การประเมินตนเอง (self -
evaluating) เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้ประเมินผลงานของตนเองพร้อมทั้งให้คะแนนการประเมินด้วยตนเอง
4.3 การสะท้อนตนเอง (reflecting) เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้สะท้อนตนเองว่าตนเหมาะกับการเรียนในรูปแบบใดมากที่สุด
5. แบ่งตามความคิดสร้างสรรค์ (creative) โดยภาระงานที่แบ่งตามความคิดสร้างสรรค์มีแนวทางการจัดกิจกรรมคือ
การระดมความคิด (brainstorming) เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้ทำงานเป็นกลุ่มและร่วมกันระดมความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่
เช่น สมาชิกในกลุ่มร่วมกันระดมความคิดเพื่อหาอาชีพให้ได้มากที่สุด
วิลลิซ (Willis. 2011 : 66 - 105) ยังได้แบ่งประเภทภาระงานในการจัดกิจกรรมออกเป็น 6 ประเภท ดังนี้
1. ภาระงานทำรายการ (listing task)
การจัดรายการถือเป็นภาระงานที่ออกแบบได้ง่ายที่สุด
และอาจดูเหมือนกับว่าเป็นภาระงานที่ง่ายที่สุดในการทำกิจกรรม
แท้จริงแล้วภาระงานประเภทนี้มีความยากต่อผู้สอนในการกำหนดหัวข้อให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรม
ในการทำภาระงานการจำแนกผู้เรียนสามารถเขียนจำแนกได้ทั้งที่เป็นคำศัพท์ วลีสั้นๆ
หรือแม้แต่ประโยคยาวๆ ซึ่งมีกระบวนการในการทำกิจกรรมดังนี้
1.1 การระดมสมอง (brainstorming)
การระดมสมองมีส่วนช่วยในผู้เรียนที่ขาดความมั่นใจในการใช้ภาษาได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สามารถจัดให้มีการทำกิจกรรมร่วมกันทั้งห้อง แบบจับคู่ และแบบกลุ่มเล็กๆ
โดยร่วมกันระดมความคิดตามหัวข้อและเวลาที่ผู้สอนกำหนด
จากนั้นจึงนำเสนอด้วยการพูดหน้าชั้นเรียน
ตัวอย่างหัวข้อที่ใช้ในการระดมสมอง
- Things that cats tend to do/like doing
- Strategies for learning English outside
class. เป็นต้น
1.2 การหาข้อเท็จจริง (fact - finding)
การหาข้อเท็จจริงเป็นการที่ให้ผู้เรียนได้สืบค้นถึงข้อมูลที่เป็นจริงผ่านช่องทางในการเรียนรู้ที่หลากหลาย
เช่น เว็บไซต์ การสอบถาม หรือการอ่านในหนังสือ โดยผู้สอนจะกำหนดหัวข้อให้ผู้เรียนได้ทำการค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อนำเสนอ
ซึ่งผู้สอนอาจใช้กิจกรรมการหาข้อเท็จจริงเป็นการบ้านให้ผู้เรียนได้ไปสืบค้นเองได้
ตัวอย่างหัวข้อที่ใช้ในการหาข้อเท็จจริง
Find out what three people outside this class think about
cats and pets. Do they like cats or not? List the reasons they give. Prepare to
report their views in English in your next lesson.
2. ภาระงานจัดลำดับและหมวดหมู่ (ordering and
sorting task)
การจัดลำดับและหมวดหมู่มีความซับซ้อนมากขึ้น
อีกทั้งในการทำกิจกรรมยังขึ้นอยู่กับข้อความคิดเห็นส่วนบุคคลในการทำภาระงานประเภทนี้
มีกระบวนการดังนี้
2.1 การเรียงลำดับ (sequencing)
การเรียงลำดับมักให้ผู้เรียนได้ลำดับเหตุการณ์ก่อน-หลังตามข้อมูลที่ผู้สอนกำหนดให้ถูกต้อง
เช่น การเรียงรูปภาพเหตุการณ์ให้ถูกต้องตามลำดับ
โดยเรียงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนไปสู้เหตุการณ์ที่เกิดท้ายสุด
นอกจากนี้ผู้สอนอาจจัดกิจกรรมโดยการใช้สื่อประเภทวิดีโอเปิดให้ผู้เรียนดูแล้วจดจำภายในครั้งเดียว
จากนั้นจึงให้ผู้เรียนลำดับเหตุการณ์ถึงสิ่งที่ได้เห็นอย่างถูกต้องตามลำดับ
2.2 การจัดอันดับ (rank ordering)
การจัดอันดับมักให้ผู้เรียนได้ทำการจัดอันดับเองตามความคิดเห็นส่วนตัว
โดยมากการกำหนดหัวข้อให้จัดอันดับจะเป็นเรื่องใกล้ตัว เช่น
การห้าจัดอันดับสถานที่ท่องเที่ยวที่อยากไปมากที่สุด
พร้อมกับจับคู่แบ่งปันข้อมูลกัน หรือ พูดแบ่งปันกับทั้งห้องเรียน
2.3 การจัดหมวดหมู่ (classifying)
การจัดหมวดหมู่สามารถทำได้ทั้งการจัดหมวดหมู่ด้วยตัวผู้เรียนเองตามข้อมูลที่ผู้สอนกำหนดให้
และจัดหมวดหมู่ตามประเภทที่กำหนดไว้แล้ว เช่น
การจัดคำศัพท์ที่อยู่ในหมวดหมู่เดียวกันลงในตารางที่ผู้สอนกำหนดให้
3. ภาระงานเปรียบเทียบ (comparing task)
ในการจัดกิจกรรมภาระงานเปรียบเทียบ
ผู้เรียนมักจะจับกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยน เปรียบเทียบกันในกลุ่มเล็กๆ 3-4 คน เกี่ยวกับเรื่องต่างๆใกล้ตัว เช่น ตารางชีวิตประจำวัน
เพื่อเปรียบเทียบดูว่าใครเป็นผู้ที่ตื่นเช้าที่สุด เป็นต้น
ทั้งนี้ผู้สอนสามารถกำหนดหัวข้อที่ยากขึ้นตามระดับความสามารถผู้เรียนได้ เช่น
หัวข้อเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรม เป็นต้น
โดยมีกระบวนการที่สัมพันธ์กับการทำภาระงานเปรียบเทียบดังนี้
3.1 การจับคู่ (matching) เป็นขั้นทำกิจกรรมที่เหมาะกับผู้เรียนในทุกช่วงชั้น
โดยเป็นการจับคู่สองสิ่งที่สัมพันธ์กัน
อีกทั้งการจับคู่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดองค์ความรู้ทางภาษาและเตรียมพร้อมที่จะใช้ภาษาในการพูดได้มากขึ้น
3.2 การหาความเหมือนและความแตกต่าง (finding
similarities and finding differences) ตัวอย่างกิจกรรม เช่น things
in common จับคู่และบอกสิ่งที่ทำเป็นกิจวัตรในช่วงวันหยุด
ผลัดกันพูดกับคู่ของตนเอง
โดยพยายามหาสิ่งที่เหมือนกันให้ได้มากที่สุดภายในเวลาสามนาที
4. ภาระงานแก้ปัญหา (problem solving task)
การทำกิจกรรมภาระงานแก้ปัญหามุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาตามที่กำหนด
เช่น สภาวะปัญหาโลกร้อน
พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้อภิปรายร่วมกันและนำเสนอแนวทางการแก้ไขที่เหมาะสมที่สุด
โดยผู้เรียนอาจทำการจดบันทึก (note-taking) การร่างแนวทางการแก้ไขปัญหา
(drafting) ก่อนนำเสนอหน้าชั้นเรียน
5. ภาระงานโครงงาน (project and creative task)
กิจกรรมภาระงานโครงงานมักมีรูปแบบโดยการทำกิจกรรมแบบจับคู่และแบบกลุ่ม
โดยในการทำกิจกรรมผู้เรียนจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินงานของกลุ่มตนเอง
โดยสามารถเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนได้และระยะเวลาในการทำโครงงานจะยาวนานกว่าการทำภาระงานประเภทอื่น
เช่น การทำโครงงานเกี่ยวกับแผ่นพับหรือโปสเตอร์โฆษณาการท่องเที่ยว
ผู้เรียนจะต้องมีการวางแผนทั้งด้านความสร้างสรรค์ ภาษา ความสวยงาม ความเหมาะสม
และปัจจัยอื่นๆให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่ผู้สอนกำหนด
6. ภาระงานแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัว (sharing
personal experience task)
ภาระงานแบ่งปันประสบการณ์จะช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการพูดมากที่สุด
โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นการเล่าเรื่องหรือเหตุการณ์ที่ผู้เรียนพบเจอในชีวิตประจำวัน
การเล่าเรื่องเกี่ยวกับตนเอง หรือการเล่าเรื่องในหัวข้อที่ผู้เรียนมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นอยู่แล้ว
เช่น ความทรงจำในวัยเด็ก Your most memorable childhood
experience เป็นต้น โดยผู้สอนอาจมีขั้นตอนการจัดกิจกรรมดังนี้
6.1 กำหนดหัวข้อเรื่องที่จะพูด (individual
thinking/preparation at home)
6.2 ให้เวลาในการเตรียมตัวเล่าเรื่อง (private
rehearsal)
6.3 ผู้เรียนเล่าเรื่องกับคู่ของตนเอง (tell
story to partner)
6.4 ผู้สอนให้คำแนะนำหลังการเล่าเรื่อง (review
of performance)
6.5 เตรียมการเล่าเรื่องอีกครั้ง (prepare
to retell)
6.6 เปลี่ยนคู่และเล่าเรื่องอีกครั้งหนึ่ง (change
partners and retell story)
6.7 เขียนสรุปเรื่องราวตามที่เล่าเพื่อแลกกันอ่านในชั้นเรียน
(write it up for the class to read)
วิลลิซ (Willis. 1996 : 56) กล่าวว่า ขั้นก่อนการปฏิบัติภาระงานและขั้นปฏิบัติภาระงานจะเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการสื่อสารกันในกลุ่มเล็กๆ
ไปสู่การสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างลื่นไหลและเป็นธรรมชาติ
ขั้นตอนการปฏิบัติภาระงานที่สมบูรณ์นั้นมีเป้าหมายเพื่อสร้างปัจจัยสำคัญต่างๆ
ในการเรียนภาษาให้เกิดขึ้นในห้องเรียน มีขั้นตอนดังนี้
1. ขั้นก่อนการปฏิบัติภาระงาน (pre-task)
1.1 ครูผู้สอนแนะนำบทเรียน รูปแบบ
จุดประสงค์ของภาระงานต่างๆ
1.2 ผู้สอนกำหนดภาระงานพูดจากเนื้อหา
1.3 ครูผู้สอนเตรียมความพร้อมและความเข้าใจของผู้เรียนในขั้นตอนของการปฏิบัติภาระงาน
2. ขั้นดำเนินงานตามตามวงจรของการปฏิบัติภาระงาน (task
cycle) เป็นขั้นตอนการปฏิบัติภาระงานตามที่ได้รับมอบหมาย
โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติงาน 3 ขั้นตอน ดังนี้
2.1 ภาระงาน (task) ผู้เรียนมีการอภิปราย
ปฏิบัติภาระงานตามที่ได้รับมอบหมายในรูปแบบของกิจกรรมเดี่ยว จับคู่ และกลุ่ม
2.2 วางแผน (planning) ผู้เรียนเตรียมตัวนำเสนอภาระงานตามที่ได้รับมอบหมาย
โดยมีการใช้ภาษาด้วยตนเองซึ่งครูผู้สอนจะให้ความช่วยเหลือหากมีความติดขัดทางการใช้ภาษา
2.3 ขั้นรายงาน (report) ผู้เรียนสรุปผลและรายงานผลจากภาระงานที่ตนปฏิบัติ
ครูผู้สอนจะเป็นผู้ให้คำแนะนำและประเมินผลงานนั้นๆ
3. ขั้นฝึกฝนและตรวจสอบการใช้ภาษา (language
focus) ผู้เรียนจะสามารถประเมินผลการปฏิบัติภาระงานของตนและเปรียบเทียบผลจากการปฏิบัติภาระงานของผู้อื่น
มีขั้นตอนสำคัญ 2 ขั้นตอน
3.1 ขั้นวิเคราะห์ (analysis) ผู้เรียนตรวจสอบการใช้ภาษาในการปฏิบัติภาระงานของตนเอง และสามารถสร้าง คำ
วลี
ขึ้นใหม่เองได้จากการวิเคราะห์คำที่ใช้สื่อสารความหมายจากการปฏิบัติภาระงานที่ผ่านมา
3.2 ขั้นปฏิบัติ (practice) ผู้เรียนฝึกฝนการใช้ภาษาโดยเรียนรู้คำ วลี
และรูปแบบโครงสร้างตามเนื้อหาที่เรียน
วิลลิซ และ วิลลิซ ( Willis and Willis. 2007 :
76 - 77) ได้ยกตัวอย่างภาระงานการจัดประเภท
โดยมีชื่อภาระงานว่า ‘International words’ ดังนี้
ขั้นภาระงานเป้าหมาย (target task) คือ ให้ผู้เรียนจัดประเภทสิ่งที่รับประทานได้ สิ่งที่ดื่มได้ กีฬา
การขนส่ง เครื่องใช้ไฟฟ้า สื่อ คำทักทาย และคำต่างๆ
ที่เกี่ยวกับโรงเรียนลงในช่องว่างที่แบ่งไว้แต่ละประเภท
ขั้นการทำกิจกรรม (during task)
1. ผู้สอนแบ่งช่องเพื่อจัดประเภทบนกระดาน
โดยแต่ละประเภทจะมีตัวอย่างให้ไว้หนึ่งตัวอย่าง
เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติภาระงาน
2. ผู้เรียนพูดคำศัพท์ที่เหมาะสมกับแต่ละประเภท
อย่างเช่น ประเภทกีฬา ผู้เรียนจะพูดคำศัพท์ เทนนิส (tennis) และ กอล์ฟ (golf) เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น